เมื่อเวลา 19.16 น. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พร้อมด้วย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้าย เนื่องในเทศกาลตรุษจีน พุทธศักราช 2565

ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน ธูป ที่โต๊ะเครื่องสังเวย ทรงจุดธูปหางแล้วทรงปักที่เครื่องสังเวย  สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปหางแล้ว ทรงปักที่เครื่องสังเวย สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงจุดธูปหางแล้วทรงปักที่เครื่องสังเวย จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงกราบ

ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงกราบ จากนั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงกราบเสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเผากระดาษเงินกระดาษทอง สมควรแก่เวลา จึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พิธีสังเวยพระป้ายคือการถวายอาหาร ไหว้บรรพบุรุษตามธรรมเนียมจีน เริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมประกอบพระราชพิธีสังเวยพระป้าย ณ เวหาจำรูญ พระราชวังบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันไหว้ของจีน ส่วนวันตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่จีนจะมีการสังเวยพระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระป้ายหรือที่ชาวจีนเรียกว่า “เกสิน” หมายถึง ป้ายชื่อของบรรพบุรุษ บุพการี ที่ตั้งไว้สำหรับบูชาประจำบ้าน

พระป้ายที่พระที่นั่งอัมพรสถานมีลักษณะเป็นเทวรูปหล่อทรงเครื่องกษัตริยาธิราช พระหัตถ์ขวาทรงพระแสงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายจีบเสมอพระอุระเหมือนกับพระสยามเทวาธิราช แต่พระพักตร์มีลักษณะคล้ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีนทำด้วยไม้จันทร์จำหลักลงรักปิดทอง จารึกพระปรมาภิไธยเป็นอักษรจีนที่ซุ้มเรือนแก้วมีฉัตรทอง 5 ชั้นสองข้าง.