รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เริ่มมีประชาชนเป็นจำนวนมาก หยิบยกข้อเรียกร้องให้กระทรวงพลังงาน หันมาดูแลราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ลักษณะเดียวกับที่ดูแลราคาน้ำมันดีเซลบ้าง เนื่องจากทิศทางราคาน้ำมันเริ่มปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่เปิดปีใหม่ปี 65 เพียงเดือนเศษ จนถึงปัจจุบันราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับขึ้นต่อเนื่องแล้ว 8 ครั้ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 2.80 บาทต่อลิตร ปัจจุบันอยู่ที่ 41.96 บาทต่อลิตร, กลุ่มแก๊สโซฮอล์ขึ้นแล้ว 3.20 บาทต่อลิตร โดยแก๊สโซลฮอล์ 91 อยู่ที่ 34.28 บาทลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 อยู่ที่ 34.55 บาทต่อลิตร อี 20 อยู่ที่ 33.44 บาทต่อลิตร

ส่วน อี 85 เพิ่มขึ้น 2.60 บาทลิตร อยู่ที่ 26.74 บาทต่อลิตร ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซล บี 7 และบี 20 เพิ่มขึ้น 0.90 บาทต่อลิตร อยู่ที่ 29.94 บาท โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ชดเชยราคาดีเซลกว่า 3.79 บาทต่อลิตร เพื่อชดเชยให้ผู้ค้าน้ำมันจำหน่ายราคาขายปลีกไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

“เริ่มมีการพูดกันในวงกว้าง ต้องการให้รัฐเข้ามาดูแลน้ำมันกลุ่มแก๊สโซฮอล์บ้าง เพราะปรับขึ้นต่อเนื่อง แม้ไม่ได้ส่งผลกระทบตรงในวงกว้างแบบน้ำมันดีเซล ที่กระทบไปถึงค่าขนส่ง ราคาสินค้า แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติ บริษัทต่างๆ เริ่มยกเลิกการทำงานที่บ้าน จึงใช้รถกันมากขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อค่าครองชีพที่เติมน้ำมันแต่ละครั้งราคาสูงมาก และยังมีทิศทางปรับขึ้นต่อเนื่อง ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก”

ทั้งนี้ได้มีการหยิบยกตัวอย่างสมัย นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็น รมว.พลังงาน เคยศึกษาแนวทางดูแลราคาน้ำมันเบนซินในช่วงหนึ่งที่ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกผันผวนในระดับสูง แต่เป็นศึกษา ยังไม่ได้นำมาใช้จริง เพราะเวลานั้นปัญหาราคาน้ำมันคลี่คลายลงไปก่อน ให้ปรับขึ้นลักษณะขั้นบันได หรือสลับฟันปลาไม่ให้ขึ้นเต็มที่ ยกตัวอย่าง ถ้าราคาน้ำมันปรับขึ้น 1 บาท รัฐอาจปล่อยให้ขึ้น 50 สตางค์ต่อลิตร อีก 50 สตางค์ รัฐจะเข้าไปชดเชย แต่ยอมรับว่า สถานการณ์เงินกองทุนฯ ในปัจจุบันนี้ อาจทำได้ยาก เนื่องจากกองทุนฯ ยังติดลบสูง ณ วันที่ 30 ม.ค. 65 ติดลบถึง 14,080 ล้านบาท และยังไม่รู้ว่าเงินจะเข้ามาเมื่อไร รัฐจึงเลือกที่จะดูแลราคาดีเซลก่อน เพื่อไม่ให้กระทบในวงกว้างมาก  

อย่างไรก็ตามทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบให้แน่ใจว่า เงินกองทุนมีอยู่เท่าไร ติดลบเท่าไร สามารถใช้ได้เท่าไร แม้ว่า จะมีเงินกู้ตามกฎหมายกำหนดเพดานกู้ไม่ให้เกิน 40,000 ล้านบาท ซึ่งล่าสุด ครม. เห็นชอบให้กู้ 20,000 ล้านบาทก่อน ในกรอบวงเงิน 30,000 ล้านบาท หากจำเป็นสามารถกู้ได้อีก 10,000 ล้านบาท แต่ขณะนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะได้เงินกู้เข้ามาเมื่อไรเช่นกัน 

“หลักการตอนนี้ ยังต้องใช้เงินกองทุนสู้ต่อไป ถ้ากรณีเลวร้ายอาจต้องกู้ถึง 30,000 ล้านบาท และเลวร้ายที่สุดอาจยังไม่เพียงพอที่จะดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศ จึงมองว่าถึงเวลาที่การลดภาษีควรจะต้องมาแล้ว ถ้ากระทรวงการคลังลดภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากน้ำมันลงได้สัก 1-2 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันดีเซลเก็บอยู่ที่ 5.99 บาทต่อลิตร ก็ยังดี เพราะยังช่วยแบ่งเบาภาระกองทุนลงได้มาก”