สรุปกันให้อีกสักครั้งสำหรับคนที่มีเงินได้จากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งประเภทคริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล หลังจากกรมสรรพากรย้ำชัดว่าทุกคนที่มีเงินได้เกินกว่าเงินที่ลงทุนในคริปโต จะต้องเสียภาษีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แม้จะผ่อนปรนในบางประการ แต่ก็ต้องเป็นหน้าที่ที่ต้องเสีย ซึ่งส่วนนี้สามารถนำไปขอคืนภาษีได้ภายหลัง โดยกรมสรรพากรได้ออกคู่มือสำหรับนักลงทุนมาแล้วว่าใครเข้าข่ายเสียภาษีคริปโตบ้าง และวิธีคิดคำนวณเป็นอย่างไร?

สำหรับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่เกินจากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งประเภทคริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล ใครบ้างที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีคริปโต โดย 1.การจำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล 2.การขุดคริปโตเคอเรนซี 3.การได้รับคริปโตเคอเรนซีเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง 4.การได้รับคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัล 5.ได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครอง ทั้งจากคริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล โดยต้องยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91 สำหรับปีภาษีที่มีเงินได้ดังกล่าว ภายในวันที่ 31 มี.ค.ของปีถัดไป

ส่วนข้อสงสัยว่ากรณีที่มีกำไรจากการซื้อขาย แต่ไม่ได้ยื่นแบบหรือไม่ได้ระบุในแบบ จะมีโทษอย่างไร? โดยกรมสรรพากรได้มีคำตอบว่า หากมีการตรวจสอบการมีเงินได้ ผู้มีเงินได้ไม่ยื่นแบบแสดงรายการหรือยื่นแต่เป็นเท็จนั้นผู้มีเงินได้ย่อมรับโทษดังนี้

1.)กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี

2.)กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีไม่ครบถ้วน นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี

3.)กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท

4.)กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

5.)กรณีเจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

แล้วผู้มีเงินได้ต้องจัดเตรียมหลักฐานประกอบการยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90 อย่างไร? เนื่องจากการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นเป็นการประเมินตนเอง ผู้มีเงินได้จากการขายคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล จึงต้องประเมินตนเองว่ามีกำไรจากการขายคริปโตเคอเรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เป็นจำนวนเงินเท่าไร และควรเตรียมหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ต้นทุนในการซื้อและราคาขายคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล เพื่อประกอบการพิสูจน์กำไรของผู้มีเงินได้หลักฐานที่ระบุถึงการทำธุรกรรมการซื้อ หรือขาย

โดยข้อมูลมีดังนี้

1.จำนวนที่ซื้อ หรือขาย

2.มูลค่าของคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ณ วันที่ทำธุรกรรม

3.อัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิง

4.รายละเอียดผู้ซื้อหรือผู้ขาย สำหรับการซื้อ/ขาย คริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล (ถ้ามี)

5.หลักฐานใบกำกับภาษีหรือ ใบเสร็จค่าใช้จ่าย

6.หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ถ้ามี)

ดังนั้นหากใครรู้ตัวเองว่าได้ลงทุนคริปโตและโทเคนดิจิทัล โดยเข้าข่ายตามเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนด ก็ต้องแสดงเงินได้ที่ได้จากการลงทุนมา พร้อมหลักฐานที่มี เพื่อไม่ให้เจอกับบทลงโทษหากหลบเลี่ยงภาษีไม่จ่าย เพราะเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน.