เมื่อวันที่ 4 ก.พ. มีรายงานว่า นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. รักษาการเลขาธิการ กกต. ปฏิบัติหน้าที่นายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีหนังสือที่ 0015/1546 ลงวันที่ 4 ก.พ.65 แจ้งผลการตรวจสอบการสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทยของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และอดีต ส.ส.ที่พรรคพลังประชารัฐมีมติขับรวม 18 คน กลับไปยังสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ตามที่ก่อนหน้านี้ นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือสอบถามมาเมื่อวันที่ 31 ม.ค.65 โดยหนังสือของนายแสวงระบุว่าได้ตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง จากระบบข้อมูลพรรคการเมืองของกกต. พบว่ามี ส.ส.สมัครเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย จำนวน 18 คน เมื่อวันที่ 20 ม.ค.65

อย่างไรก็ตาม กรณีมติขับ 21 ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ยังคงเป็นปัญหาโดยนอกจากนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจะยื่นหนังสือขอให้กกต.ตรวจสอบแล้ว ล่าสุดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสมัย รามัญอุดม ซึ่งอ้างเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ พร้อมพวกรวมกว่า 100 คน ได้ยื่นคำร้องต่อกกต.ตามมาตรา 42 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 โดยอ้างว่ามติขับ ร.อ.ธรรมนัส และส.ส.รวม 21 คน ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขณะนี้อยู่ระหว่างสำนักงานฯดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้น ก่อนเสนอกกต.พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร คาดว่าจะเข้าที่ประชุมกกต.ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ พร้อมกับหนังสือพรรคพลังประชารัฐที่รายงานมติขับ 21 ส.ส. หากกกต.เห็นว่าการดำเนินการมีมติขับดังกล่าวเป็นไปตามที่กฎหมายและข้อบังคับกำหนด ก็จะมีมติรับทราบตามกระบวนการ จะมีการแจ้งหนังสือไปยังสภาผู้แทนราษฎรภายใน 3 วัน ซึ่งจะทันเส้นตาย 30 วัน ที่จะครบกำหนดในวันที่ 18 ก.พ.นี้

ทั้งนี้ มาตรา 42 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 บัญญัติว่าในกรณีสมาชิกซึ่งเป็น ส.ส.คนหนึ่งคนใดหรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน เห็นว่ามติของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่นให้มี 10 ร้องขอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาวินิจฉัยถ้าคณะกรรมการฯวินิจฉัย ว่ามติใดของพรรคการเมืองขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่นให้ คณะกรรมการฯมีอำนาจสั่งเพิกถอนมติดังกล่าวได้มีอำนาจ