ย่างเข้าเดือนยี่ ตามปฏิทินแบบสุริยคติ หน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ รัฐนาวา ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เจอมรสุมการเมืองหลายลูก ส่งผลให้เกิดความระส่ำระสายอย่างหนัก

วงการนักเดินเรือรู้ดี อาจถึงคราวรัฐนาวาใกล้อับปาง!

(1) มรสุมลูกแรก ความแตกแยกภายในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เป็นนั่งร้านค้ำยันอำนาจให้กลุ่มพี่น้องสาม “3 ป.” โดยเฉพาะกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พา ส.ส. 18 ชีวิต ถูกอัปเปหิออกจากพรรค พปชร. ก่อนย้ายไปซ่องสุมกำลังพลที่พรรคเศรษฐกิจไทย เพื่อรอจังหวะรุกฆาตทางการเมือง

(2) มรสุมลูกที่สอง พรรคร่วมรัฐบาล ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย เริ่มปรับไปใช้ยุทธศาสตร์ “ซ่อนดาบในรอยยิ้ม” เพื่อสร้างความได้เปรียบในสมรภูมิการเมือง โดยเฉพาะ คิวล่าสุดที่ 7 รัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข แทคทีมลาประชุม ครม. ค้านกรณี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยเสนอ ขยายอายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวล่วงหน้า 30 ปีให้กลุ่มเอกชน

จนท้ายที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ ต้องยอมตีกลับ และสั่งให้กระทรวงมหาดไทย ทำคำชี้แจงเพิ่มเติม พร้อมส่งสัญญาณปริศนาในวงประชุม ครม. “ถ้ายังเล่นกันอย่างนี้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด”

(3) มรสุมลูกที่สาม พรรคร่วมฝ่ายค้านภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ใช้วิธีเดินเกมตรวจสอบรัฐบาลไม่เป็นองค์ประชุม ทำให้สภาล่มอย่างต่อเนื่อง จงใจให้งานฝ่ายนิติบัญญัติสะดุด กดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ถอดใจยุบสภา

สถานการณ์ตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ รู้ดีกำลังถูกล้อมจากทุกทิศทางทั้งจากศึกนอก-ศึกใน หากต้องการลากเกมยาวนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไป จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาทางหนีไฟ ไม่ยอมนั่งรอให้สำลักควันขาดใจตาย

ทั้งหมดทั้งมวลจึงเป็นที่มาของฉาก “แรมโบ้อีสาน” นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กระโดดเข้าไปขับเคลื่อนพรรครวมไทยสร้างชาติ รองรับอุบัติเหตุทางการเมือง

หวังต่อท่อออกซิเจนให้ พล.อ.ประยุทธ์ นั่งอยู่ในเก้าอี้ นายกฯ นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

“วันดีคืนดีหากพรรคพลังประชารัฐไม่เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ท่านนายกฯ จะมีประตูเดินออกอีกหรือไม่ อยู่ๆ พรรคพลังประชารัฐจะมากดดัน หรือมีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ลงคะแนนให้นายกฯ ตอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากเราไม่เตรียมการ ไม่หาบ้านหลังใหม่ให้กับท่านนายกฯ ตั้งแต่วันนี้ แล้วท่านจะถูกกดดัน ภาษาบ้านผมเรียกว่า จะมาบีบไข่นายกฯแบบนี้ตลอดไม่ได้ ผมไม่ยอม” นายเสกสกล ประกาศชัด

เอาเป็นว่ามองข้ามชอตไปเลย เส้นทางการเมืองเบื้องหน้าของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องเจอกับศึกรอบด้านที่พร้อมเกิดอุบัติเหตุการเมืองได้ทุกวินาที

จุดอันตรายที่สุดคือช่วงเปิดสมัยประชุมสามัญตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.-18 ก.ย. ที่มีฉากให้ลุ้นระทึก ไล่ตั้งแต่ ปมร้อนเก้าอี้นายกฯ 8 ปี, ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท, ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา 151 นัดทิ้งทวนของฝ่ายค้าน ที่มีแนวโน้มสูงฝ่ายตรงข้ามเตรียมเดินสายล็อบบี้ ส.ส.ให้โหวตคว่ำนายกรัฐมนตรี

ตามตำราพิชัยสงคราม เมื่อเกิดศึกติดพันรอบตัว แม่ทัพจำเป็นต้องปราบทีละศึกเพื่อชนะสงคราม

ทว่าหากแม่ทัพชื่อประยุทธ์ เพลี่ยงพล้ำ แก้กลศึกไม่ได้ มีแนวโน้มสูงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเลือกใช้วิธียอมหัก ไม่ยอมงอ ปล่อยให้กองทัพละลายไพร่พลตายในสนามรบ

ตอกย้ำจากคิวล่าสุดที่ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเพลง “อย่ายอมแพ้” กลางวงประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด (ศบศ.) พร้อมประกาศหนักแน่น “ผมไม่มีแพ้ใครอยู่แล้ว ทุกคนต้องไม่ยอมแพ้ เพื่อประเทศชาติ ประชาชนที่รักยิ่งของพวกเรา”

สถานการณ์การเมืองตอนนี้ที่ต่างฝ่ายต่างใช้ทุกวิธีเข้าห้ำหั่นเพื่อสร้างความได้เปรียบในสมรภูมิการเมือง ทำให้นึกถึง พุทธศาสนสุภาษิตบทสำคัญ

“วินาศกาเล วิปริตพุทธิ” แปลเป็นไทยคือเมื่อถึงคราววินาศ ปัญญาย่อมวิปลาสไปด้วย.

ขุนไพร พิเคราะห์การเมือง