เมื่อวันที่ 10 ก.พ. นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย ได้โพสต์ข้อความระบุว่า อนุทิน-ศักดิ์สยาม vs. ประยุทธ์-อนุพงษ์

เห็นต่างหรือขัดผลประโยชน์

1. สัมปทานรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ เมื่อหมดอายุสัมปทานลง กรรมสิทธิ์ทั้งหมดตกเป็นของกรุงเทพมหานคร หากจะนำไปให้เอกชนเข้าร่วมงานใหม่ก็ต้องประกวดราคาโดยเปิดเผย การต่ออายุให้กับเจ้าเดิมจึงมีความเสี่ยงต่อความชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ทำให้ กทม. ขาดประโยชน์ ยิ่งค่าโดยสารแพงด้วยแล้วก็ยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้น โดยผลแห่งกฎหมายและโดยความเป็นธรรมแก่ กทม. และประชาชน งานนี้พรรคภูมิใจไทยคัดค้านจึงไม่มีวันแพ้

2. ปัญหาเรื่องนี้ยื้อกันมานานแล้ว กระทรวงคมนาคมที่พรรคภูมิใจไทยดูแลทักท้วงโต้แย้งอย่างต่อเนื่องหลายครั้งแต่ไม่มีใครนำพา ยังดันเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีถึง 4 ครั้งและผู้ที่สั่งวาระเข้า ครม. ก็คือนายกรัฐมนตรี ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเท่านั้นโดยบรรจุเป็นวาระเพื่อทราบ แต่รัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยไม่ยอมแค่รับทราบเพราะต้องเสี่ยงต่อความรับผิดชอบด้วย จึงโต้แย้งจน ครม. ต้องส่งเรื่องกลับไปแล้ว 3 ครั้ง รวมทั้งครั้งล่าสุดเป็นครั้งที่ 4 และในครั้งนี้ถึงขนาดรัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทยทั้ง 7 คน ประท้วงด้วยการไม่เข้าประชุม โดยมี ส.ส. ของพรรคทั้งหมดสนับสนุนการประท้วงครั้งนี้

3. ในที่สุด แม้ไม่มีรัฐมนตรีของพรรคภูมิใจไทยเข้าประชุม นายกรัฐมนตรีก็ต้องขอให้กระทรวงมหาดไทยรับเรื่องไปทำความเข้าใจกันก่อน แต่น่าสังเกตว่ามีการแถลงข่าวว่าคณะรัฐมนตรีรับทราบแต่ให้กระทรวงมหาดไทยไปชี้แจงข้อสงสัยให้กระทรวงคมนาคมทราบและนำเข้า ครม. อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นลีลาพิลึกพิลั่นอยู่เพราะอาจตีความว่าคณะรัฐมนตรีรับทราบแล้ว สามารถดำเนินการได้เลยโดยเพียงให้กระทรวงมหาดไทยไปชี้แจงข้อสงสัยเท่านั้นแล้วนำเข้ามาแจ้งให้ ครม. ทราบอีกครั้งหนึ่งซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้พรรคภูมิใจไทยคงไม่ยอมลดราวาศอกแน่

 หลังการประชุมจึงมีเสียงเปรยว่าเรื่องนี้ทำให้รู้ใจคนชัดเจนว่าใครเป็นใคร  จะหมายถึงใครว่าเป็นใครก็ไม่รู้ ต้องคิดดูกันเอาเอง

 ปรากฏการณ์ที่รัฐมนตรีถึง 7 คน ประท้วงไม่เข้าร่วมประชุมนั้น คือ สัญญาณที่แสดงถึงอาการล่มของเรือแป๊ะนั่นเอง