เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่รัฐสภา นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 กล่าวถึงงบประมาณกระทรวงมหาดไทยในกรณีของกรมโยธาธิการและผังเมือง เรื่องความจำเป็นในโครงการด้านการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ยกเลิกการทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ในเดือนธ.ค.2556 งบประมาณด้านนี้ก็เพิ่มขึ้นในทุกปีอย่างมีนัยยะสำคัญขึ้นเป็น 500% ปี 57 ใช้งบประมาณ 170 ล้านบาท ถึงปีปัจจุบัน งบประมาณปี 65 ตั้งไว้สูงถึง 1,080 ล้านบาท สำหรับการสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง คำถามก็คือการสร้างเขื่อนแบบนี้เป็นการแก้ปัญหาหรือสร้างปัญหากันแน่

นายพิธา กล่าวต่อว่า วิธีที่จะตอบปัญหาดังกล่าวได้ จำเป็นต้องยกตัวอย่างพื้นที่ที่มีโครงการสร้างเขื่อนฯ จริงมาเปิดเผยให้เห็น ได้แก่ พื้นที่ ต.เพ อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งแบ่งเป็น 4 พื้นที่ 1.ชุมชนบ้านเพ ซึ่งเป็นชุมชนประมง ที่อยู่อาศัย ตลาดและท่าเรือ 2.หาดสวนสน ซึ่งเป็นหาดท่องเที่ยว 3.หาดสวนสน ซึ่งเป็นที่จอดเรือ และ 4.หาดดวงตะวัน ซึ่งเป็นรีสอร์ทและหาดท่องเที่ยว

กรณีหาดดวงตะวันได้มีการจะสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเลพร้อมปรับภูมิทัศน์ความยาว 786 เมตร วงเงินงบประมาณรวม 78.6 ล้านบาท หมายความว่าได้ใช้งบประมาณสร้างเขื่อนคิดเป็นกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท แต่มีข้อมูลอีกหนึ่งชุดที่เป็นงบประมาณสร้างถนนใหม่เลียบทะเลโดยกรมทางหลวงชนบทปี 2565 พบว่าใช้งบประมาณสร้างถนนกิโลเมตรละ 8.4 ล้านบาท ทั้งหมดนี้จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า เรากำลังขี่ช้างจับตั๊กแตนหรือไม่ คือสร้างเขื่อนกิโลเมตรละ 100 ล้านบาท เพื่อมาปกป้องถนนที่ใช้งบประมาณสร้างประมาณ 8.4 ล้านบาท” นายพิธา ระบุ

นายพิธา กล่าวต่อไปว่า ประการแรก ขอให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ทบทวนโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่งทะเล หมู่ที่ 3 หาดดวงตะวัน ต.แกลง .เมือง จ.ระยอง ที่เป็นงบผูกพันปี 64 แต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ซึ่งโครงการนี้เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้นชัดเจน ประการที่สองเป็นกลุ่มโครงการที่จะขอให้ทางกรมโยธาฯชะลอไปก่อน เนื่องจากเป็นการตั้งงบประมาณก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เช่น โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบ้านผาแดง หาดทรายรี-ชุมพร งบประมาณทั้งโครงการ 42.7 ล้านบาท โครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งพื้นที่ชายฝั่งทะเลชุมชนบางกะไชย แหลมสิงห์-จันทบุรี งบประมาณทั้งโครงการ 88 ล้านบาท โครงการฟื้นฟูบูรณะและปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลหาดดงตาล สัตหีบ-ชลบุรี งบประมาณทั้งโครงการ 48 ล้านบาท

นายพิธา กล่าวว่า ประการที่สาม ขอรายละเอียดเอกสารเพิ่มเติมในโครงการเขื่อนกัดเซาะชายฝั่งที่ผูกพันใหม่ในงบปี 65 ทั้ง 6 โครงการ และโครงการเขื่อนกัดเซาะชายฝั่งที่ภาระผูกพัน 41 โครงการ โดยเหตุผลที่ต้องขอรายละเอียดและต้องการให้ทางหน่วยงานชี้แจงเพิ่มเติมเพราะต้องการเห็นว่า ในเอกสารมีการแยกแยะแต่ละพื้นที่แต่ละโครงการหรือไม่ว่า เป็นการกัดเซาะ แบบชั่วคราวหรือเป็นการกัดเซาะแบบชั่วโครตเพราะการกัดเซาะแบบชั่วคราว เป็นการกัดเซาะในบางฤดูกาลเท่านั้น แต่การกัดเซาะแบบชั่วโคตรอาจเกิดจากปัจจัยด้านโลกร้อน หรือเหตุปัจจัยอื่นๆที่จะก่อให้เกิดการกัดเซาะถาวร หากแยกแยะว่าเป็นการกัดเซาะแบบไหนก็จะสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุด เพราะวิธีการที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาจะแตกต่างกันออกไป

ด้าน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการฯ ขอตั้งคำถามถึงความซ้ำซ้อนในหน้าที่ระหว่างกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม และกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ในการสร้างโครงสร้างเขื่อนแข็ง โดยปีที่แล้ว มี 12 เขื่อนที่ตั้งงบในปี 64 และยังไม่ได้เบิกจ่ายเลยแม้แต่เพียงบาทเดียว ซึ่งจะพิจารณาลดงบประมาณปี 65 เพื่อชดเชยของปี 64 ที่ทำไม่เสร็จต่อไป สำหรับปีนี้มีการสร้างเขื่อนริมตลิ่งมีทั้งสิ้น 199 โครงการ มูลค่ารวม 12,000 ล้านบาท เบิกจ่ายในปี 65 จำนวน 2,350 ล้านบาท ขณะที่ปี 64 มีการจัดทำ 180 เขื่อน มีมูลค่าค่อนข้างมาก แต่ละโครงการมีขนาดเล็ก ความยาวไม่เกิน 500 เมตรเท่านั้น แต่มีจำนวนมากและใช้งบประมาณสูง จึงอยากตั้งคำถามว่าการก่อสร้างเหล่านี้ได้คุยคณะกรรมการน้ำและขออนุญาตกรมเจ้าท่าหรือไม่ เพราะสิ่งปลูกสร้างเหล่ามีผลกระทบกับการขวางเส้นทางน้ำได้