เมื่อวันที่ 13 ก.พ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้ภาวะมีบุตรยากเป็นโรคที่ได้รับการรักษา ในขณะนี้ประเทศไทยมีอัตราเด็กเกิดน้อย ดังนั้นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญเพื่อส่งเสริมการเกิดคือการจัดสิทธิประโยชน์ให้สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยรักษาภาวะมีบุตรยาก ซึ่งทางกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เห็นด้วยในเรื่องนี้ ตรงกับที่คณะกรรมการอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติเสนอไปด้วย ขณะนี้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็ให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างร่วมกันศึกษาความคุ้มค่าของวิธีการ กลุ่มเป้าหมาย ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ดี เพื่อเพิ่มจำนวนการตั้งครรภ์คุณภาพ เพราะเรารู้ว่าวันนี้เรามีปัญหาเด็กเกิดน้อย ครอบครัวที่เริ่มทำงาน มีศักยภาพ แต่มีปัญหาเป็นโรคมีบุตรยาก หากได้มีการบรรจุอยู่ในสิทธิประโยชน์ คนที่เหมาะสมตามข้อกำหนด ก็จะทำให้เราได้เด็กที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น ในส่วนนี้สามารถทำได้ไม่ต้องรอการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่อาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ หรือ พ.ร.บ.อุ้มบุญ

นพ.ธเรศ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขณะนี้ พ.ร.บ.อุ้มบุญ มีการใช้มานานแล้ว จึงอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายบางมาตราเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันในการรักษาภาวะมีบุตรยาก และสอดรับกับนโยบายของประเทศ ในการส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ คือให้ชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการรักษา ส่งเสริมสุขภาพในประเทศไทยให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมายังมีอุปสรรคเรื่องการตั้งครรภ์แทน หรืออุ้มบุญ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจะได้ข้อสรุปในเรื่องประเด็นที่มีการปรับแก้ ก่อนเข้าสู่กระบวนการรับฟัง ร่างแก้ไข เข้าครม. กฤษฎีกา และระบบรัฐสภา ทั้งนี้ไม่ได้มีการแก้ไขทั้งฉบับ แต่จะแก้บางมาตรา

สำหรับประเด็นที่มีการหารือกันว่าจะมีการแก้ไข อาทิ ข้อกฎหมายกำหนดว่าคนที่จะมาอุ้มบุญต้องเป็นคนไทยอย่างน้อย 1 คน ทำให้ที่ผ่านมาเวลาชาวต่างชาติจะเข้ามาทำต้องมีการจดทะเบียนสมรสกับคนไทยก่อน จึงมีการร้องขอมาจากภาคเอกชนว่าเป็นข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค เนื่องจากคู่สามีภรรยาชาวต่างชาติ ที่เห็นว่าประเทศไทยมีฝีมือทางการแพทย์ด้านนี้แต่ไม่สามารถเข้ามาทำตรงนี้ได้ ทำให้เกิดปัญหาหลีกหนีระบบ ด้วยการจ้างคนไทยจดทะเบียนสมรส เป็นต้น จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะแก้ไขให้คู่สามี ภรรยาชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำการอุ้มบุญในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้เข้าสู่ระบบดีกว่า แทนที่จะปล่อยให้มีการเลี่ยงระบบ ทำผิดกฎหมาย

นพ.ธเรศ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องคือการฝากไข่ สเปิร์ม ตัวอ่อน เดิมกฎหมายห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคเช่นกัน เนื่องจากมีชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย เชื่อมั่นในเทคโนโลยีการแพทย์ของไทยจึงต้องการฝากไข่ สเปิร์ม ในไทย แต่พอย้ายไปต่างประเทศกลับไม่สามารถนำออกไปด้วยได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาต จึงเลือกไม่ทำตั้งแต่ขั้นตอนแรกในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาส และรายได้จากตรงนี้ ทั้งนี้ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก ให้ปัญหาการมีบุตรยากเป็น 1 โรคที่ต้องได้รับการรักษา ดังนั้นหากประเทศไทยทำตรงนี้ให้คนมาลงทะเบียนทำหัตถการได้อย่างถูกต้องก็จะเป็นผลดีกับประเทศ

เมื่อถามว่า กรณีสามี ภรรยาชาวต่างชาติจะมาทำอุ้มบุญในประเทศไทยจะกำหนดให้ต้องพาหญิงที่รับอุ้มบุญมาด้วยหรือสามารถให้หญิงไทยอุ้มบุญแทนได้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า มีหลายวิธี เช่น ตั้งแต่เขาพาคนของเขามาเองก็ได้ หรือมีอีกแนวคิดหนึ่งว่าหรือจะให้คนไทยที่ประสงค์เป็นผู้รับฝากอุ้มบุญ ให้มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง มีการค่าตอบแทนที่ชัดเจน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ยังมีการพูดคุยกันอยู่

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากให้มีการลงทะเบียนรับจ้างอุ้มบุญได้จะเข้าข่ายเค้ามนุษย์หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่า หากเราทำให้ถูกต้องไม่ใช่การค้ามนุษย์ หลักการคือคนที่ต้องการให้ผู้อื่นอุ้มบุญแทนนั้นเขาจะรับเด็กเป็นลูกจริงๆ อยู่แล้ว ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับกรณีเข้ามาลักลอบจ้างคนอุ้มบุญจำนวนมากแล้วเอาเด็กออกนอกประเทศ ซึ่งไม่รู้ว่าพาเด็กไปทำอะไร เชื่อว่าหากระบบลงทะเบียนให้ชัดเจนจะเป็นประโยชน์ในการควบคุมกำกับ จะแยกคนที่แอบทำเพื่อค้ามนุษย์ กับการช่วยคนที่อยากมีลูกจริงๆ ได้ ซึ่งการติดตามระหว่างตั้งครรภ์ 9 เดือนนั้นจะมีระบบการตรวจสอบ ติดตามอยู่แล้ว โดยสถานพยาบาลที่ทำหัตถการ และฝากครรภ์ ซึ่งเป็นระบบที่มีการติดตามอยู่แล้ว หลังคลอดก็มีการติดตามต่อ

เมื่อถามต่อถึงความเป็นไปได้ในการอนุญาตให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถให้มีการอุ้มบุญแทนได้ นพ.ธเรศ กล่าวว่า ในส่วนนี้เราจะอิงตามกฎหมายใหญ่ คือกฎหมายครอบครัว เพราะพ.ร.บ.อุ้มบุญนั้น จะระบุว่าสามารถทำให้กับคู่สมรสตามกฎหมาย ดังนั้นหากกฎหมายคู่สมรสเปิดให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นคู่สมรสกันตามกฎหมายได้ ในส่วนของการอุ้มบุญแทนก็ไม่มีปัญหา สามารถรองรับได้เลย นี่ก็เป็นจุดหนึ่งที่เราเห็นอยู่ ในต่างประเทศก็มีการปรับแก้ตรงนี้ เราก็รออยู่ว่ากฎหมายใหญ่ที่เกี่ยวข้องจะเป็นไปในทิศทางใด.