เรียกได้ว่ากำลังกลายเป็นเมนูสุดฮิตที่ชาวเน็ตบนโลกออนไลน์ต่างกันแชร์และพากันรับประทานกันอย่างมากมาย สำหรับเมนู “หมึกชอต” ที่เป็นการนำเอาหมึกตัวเล็กๆ ตัวเป็นๆ จิ้มอยู่ในแก้วชอตที่มีน้ำจิ้มซีฟู้ด และนำมารับประทานสดๆ ทันที ทำเอาหลายคนลองทำตาม และก็มีบางส่วนต่างออกมาเตือนเรื่องความสะอาดด้วย ซึ่งต่อมาบนโลกออนไลน์ได้มีการแชร์คลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงบางสิ่งบางอย่างที่เป็นเส้น ๆ และยั้วเยี้ยมาจากตัวหมึก ซึ่งก็มีเสียงผู้หญิงในคลิปบอกว่าสิ่งนี้คือ “พยาธิหมึก” นั้น

@tung_122912

สำหรับคนที่ชอบกินหมึกดิบๆๆ พยาธิชูหัวหาง ดุกดิกเชียว????

♬ เสียงต้นฉบับ – Tik Toker – Tik Toker

อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคลิปดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ว่า “เห็นในคลิปนั่น ไม่ใช่พยาธิในปลาหมึกครับ แต่เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ของหมึกตัวผู้ครับ มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอสั้น ๆ เหมือนกับกำลัง “ผ่าปลาหมึก” แล้วเห็นของที่อยู่ข้างใน เป็นเส้นขาว ๆ จำนวนมาก พร้อมกับเสียงบรรยายว่า “เป็นพยาธิ ให้ระวังด้วย!?” ไม่ใช่นะครับ มันไม่ใช่พยาธิในปลาหมึก

ซึ่งปกติจะเป็นพยาธิตัวกลม (เช่น พยาธิอะนิซาคิส) ที่อยู่เป็นตัวเดี่ยว ๆ หลายตัว แต่ไม่ได้จับกันเป็นกระจุก เป็นฝัก แบบนั้น แต่สิ่งที่เห็นนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะสืบพันธุ์ของปลาหมึกตัวผู้ ที่เรียกว่า สเปิร์มมาโตฟอร์ spermatophore (หรือเรียกง่ายๆว่า ฝักสเปิร์ม) ให้นึกถึงเวลาที่เรากิน “ไข่ปลาหมึกทอด” ที่เป็นถุงเป็นก้อนขาวๆ นั้น จะมีทั้งที่เป็นถุงรังไข่ (ovary) ของหมึกตัวเมียและที่เป็นถุงสเปิร์ม (อัณฑะ) ของหมึกตัวผู้ ถ้าเราเอาถุงอัณฑะมาผ่าแยกออก จะเห็นเหมือนท่อยาวๆ สีขาว จำนวนมาก ซึ่งก็คือ สเปิร์มมาโตฟอร์ เรียงอยู่ข้างในนั้น

Spermatophore เป็นอวัยวะที่พบในสัตว์หลายชนิด ทั้งกลุ่มแมลง แมงมุม รวมถึงพวกเซฟฟาโลปอด (พวกปลาหมึกชนิดต่างๆ) ซึ่งตัวผู้จะใช้ในการนำส่งสเปิร์ม (อสุจิ) เข้าไปในตัวเมียในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์

สำหรับพวกเซฟาโลพอด ส่วนใหญ่จะใช้แขนเฉพาะที่เรียกว่า เฮโคโคติลัส helicotilus เพื่อส่งสเปิร์มมาโตโฟร์เข้าไปยังภายในตัวเมีย จากนั้น จะมีกลไกที่ซับซ้อน ในการปล่อยตัวอสุจิ ออกจากสเปิร์มมาโตฟอร์ และอสุจิก็จะเก็บรักษาเอาไว้ภายในตัวเมีย

ตัวเมียตัวหนึ่งอาจจะมีสเปิร์มจากตัวผู้หลายตัวอยู่ภายใน และด้วยความที่สเปิร์มมาโตฟอร์สามารถอยู่รอดได้นานภายในร่างกายของตัวเมีย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยก่อน อย่าง จอร์จ คูเวียร์ George Cuvier เข้าใจผิดว่าเป็นหนอนปรสิต และตั้งชื่อให้ว่า Hectocotylus (ภาษาละติน: “Hundred” + “hollow thing”)

สเปิร์มมาโตฟอร์แต่ละอันนั้น ถ้าบีบให้แตกออก จะเห็นว่ามีปลอกชั้นนอกที่ใสๆ กับถุงน้ำเชื้อชั้นในที่ขาวๆ ตรงโคนสเปิร์มมาโตฟอร์ มีกลไกเชือก ซึ่งถ้าดึงหรือบีบมันจะปล่อยถุงชั้นในออกมาอย่างรวดเร็ว ถุงชั้นในพอหลุดจากปลอก จะกลายเป็นแท่งแหลมๆ ขาวๆ เรียก สเปิร์มมาแทนเจีย spermatangia ตรงโคนมีกาวเคลือบ เอาไว้ติดหนึบกับเนื้อของตัวเมีย

กลไกเหล่านี้ของสเปิร์มมาโตฟอร์ ทำให้เราเห็นในคลิปว่ามันขยับเขยื้อนได้ เหมือนกับเป็นพยาธิ ทั้งๆ ที่จริงแล้วเป็นแค่อวัยวะหนึ่งครับ

แถมว่า อันนี้จริงๆ ก็คล้ายกับข่าวหลายปีก่อน (ปี 2014) ที่มีสตรีชาวเกาหลีกินปลาหมึกแล้วถุงสเปิร์มแตกในปาก แล้วเข้าใจว่ามีลูกปลาหมึกมาฟักตัวในปากได้ (ซึ่งไม่จริง)”..

ขอบคุณภาพประกอบ : อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์,