จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข มีมติฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์ (ฝาส้ม) ในกลุ่มเด็กอายุ 5–11 ปี ซึ่งไม่นานหลังจากนั้น มีการประกาศวัคซีนสูตรไขว้ในเด็ก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ปกครองในการเลือกสูตรวัคซีนที่เหมาะสมให้กับบุตรหลาน สิ่งนี้ทำให้เกิดความสับสนว่าควรจะเลือกสูตรวัคซีนไหนที่เหมาะสมกับเด็กไทย

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุด รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ กุมารแพทย์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า “การฉีดวัคซีนเชื้อตายในเด็กจะไม่สามารถป้องกันโควิดสายพันธุ์โอมิครอนได้ จึงจำเป็นที่เด็กต้องฉีดวัคซีน mRNA เพื่อป้องกันการติดเชื้อเท่านั้น โดยเฉพาะวัคซีนไฟเซอร์ ที่ช่วยป้องกันได้มากกว่าวัคซีนชนิดอื่น แต่ตอนนี้รัฐบาลกลับเพิ่มตัวเลือกวัคซีนอื่น ๆ เพื่อให้ผู้ปกครองเลือกฉีดให้กับเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวล

การฉีดวัคซีนให้เด็กไทย ควรใช้ไฟเซอร์ 2 เข็ม ไม่ควรเพิ่มสูตรอื่นอีก เพราะวัคซีนชนิดอื่นป้องกันโอมิครอนไม่ได้ ซึ่งหากเด็กที่ต้องการฉีดสูตรไขว้ 2 เข็ม ควรมีสักเข็มเป็นวัคซีนไฟเซอร์ ที่ช่วยป้องกันได้ดีกว่าวัคซีนอื่น เนื่องจากหลายคนกังวลว่า จะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ตามผลวิจัยในต่างประเทศที่พบมากในเด็กผู้ชาย เมื่อฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2 แต่ที่ผ่านมา ยังไม่พบเด็กที่มีอาการร้ายแรง โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัว ควรมาฉีดวัคซีนไฟเซอร์ เพราะมีความเสี่ยงมากกว่าเด็กที่มีร่างกายแข็งแรง เนื่องจากเด็กที่มีโรคประจำตัวเมื่อติดแล้ว เสี่ยงจะมีภาวะลงปอด และเสียชีวิตได้ง่ายกว่า

สิ่งสำคัญ เมื่อเด็กฉีดวัคซีนไปแล้ว จะต้องติดตามอาการที่สำคัญคือ เจ็บหน้าอก ใจสั่น ซึ่งมักพบใน 3–5 วันแรกหลังฉีดวัคซีน ถ้าหากมีอาการร้ายแรงจะต้องรีบนำตัวไปพบแพทย์

อาการแพ้วัคซีนไฟเซอร์ขั้นรุนแรงในเด็กที่ไม่สามารถฉีดได้ จะเกิดขึ้นหลังฉีดไปแล้ว 15–30 นาที โดยมีอาการช็อก หรือลมพิษขั้นร้ายแรง แต่ถ้ามีอาการแค่มีไข้ ปวดหัว ท้องเสีย ถือเป็นอาการข้างเคียงปกติที่พบได้ในวัคซีน โดยปกติอาการข้างเคียงของเด็กอายุ 5–11 ปี ที่มีอาการแพ้วัคซีนจะมีน้อยกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งจากรายงานผลการวิจัยในต่างประเทศ พบผลข้างเคียงจากโรคหัวใจในเด็กอายุ 12–18 ปี มีผลข้างเคียงจากภาวะหัวใจอักเสบมากที่สุด แต่ยังพบน้อยในไทย

ผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนในเด็ก อาจมีทั้งที่เป็นอาการเฉียบพลัน เช่น มีผื่นลมพิษ จึงต้องมีการเฝ้าระวังดูอาการหลังฉีดวัคซีน ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีอาการร้ายแรงเกิดขึ้นในไทย ส่วนอาการข้างเคียงทั่วไป เช่น มีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อย คลื่นไส้อาเจียน อาการเหล่านี้พบหลังจากกลับบ้านไปแล้ว โดยจะมีอาการ 2 สัปดาห์ แล้วหายเอง โดยกินยาตามอาการที่เกิดขึ้น

อนาคตจะมีการฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากขึ้น เพราะตอนนี้เรารู้แล้วว่า ถ้าฉีดในเด็ก 5–11 ปี ต้องใช้วัคซีนปริมาณ 1 ใน 3 โด๊สของผู้ใหญ่ ซึ่งหากมีการวิจัยค้นพบปริมาณที่เหมาะสม และผลข้างเคียงต่อเด็กเล็กในผลกระทบที่ยอมรับได้ ประเทศแถบยุโรปจะใช้ก่อน จากนั้นไทยจะได้ใช้ต่อ ดังนั้นจึงสามารถเชื่อมั่นได้ว่า มีความปลอดภัย เนื่องจากเด็กในยุโรปที่เป็นกลุ่มตัวอย่างแรกเป็นผู้ใช้ก่อน”..