เมื่อวันที่ 16 ก.พ. นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กฎหมายอุ้มบุญ) กรณีที่มีแนวคิดเป็นให้สาวไทยสามารถรับจ้างตั้งครรภ์แทน (อุ้มบุญ) ได้ว่าโดยหลักจะมีเกณฑ์กำหนดว่าผู้ที่จะสามารถรับอุ้มบุญได้ตามกฎหมายฉบับปัจจุบัน ไม่ได้มีการปรับแก้อะไรในส่วนนี้ ยกเว้นกรณีที่จะปรับให้สามารถรับจ้างได้เท่านั้น ทั้งนี้ข้อกำหนดเบื้องต้นคือเป็นหญิงที่เคยมีลูกมาก่อน แต่ต้องไม่มีลูกเกินกี่คน อายุขั้นต่ำ และอายุสูงสุดที่ให้ตั้งครรภ์ได้ เพราะหากมีลูกมากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้หญิง อย่างไรก็ตามนี่เป็นข้อเสนอ ซึ่งอาจทำให้เกิดระบบเป็นทางการว่า คนที่จะมาเป็นแม่อุ้มบุญต้องมาขึ้นทะเบียนก่อน และมีรายได้ แทนที่จะไปลักลอบรับจ้างอุ้มบุญผิดกฎหมาย

เมื่อถามว่าสาวโสดเข้าเกณฑ์สามารถทำได้หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่าเกณฑ์ของผู้หญิงที่จะมารับอุ้มบุญนั้นมีเกณฑ์เดิมอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้อนุญาตให้สาวโสดทำ เพราะการตั้งครรภ์ต้องมีประสบการณ์ในการดูแลการตั้งครรภ์ ซึ่งต้องใช้เวลานาน 9 เดือน หากคนไม่มีประสบการณ์ ตอนแรกเข้ามาอาจจะตั้งใจทำ แต่พอใช้อาจจะถอดใจภายหลังได้ นอกจากนี้ยังมีการกระตุ้นเรื่องไข่ มีการฉีดฮอร์โมนเข้าไป หากเป็นสาวโสดจะไม่มีกลไกตรงนี้มาก่อน ก็อาจจะมีปัญหา

เมื่อถามต่อว่าการขึ้นทะเบียนรับจ้างอุ้มบุญต้องขึ้นตรงกับ สบส. หรือเปิดให้ทำผ่านเอเจนซี่ได้หรือไม่ นพ.ธเรศ กล่าวว่าอันนี้เราจะเสนอหลักการก่อน หากอนุกรรมการแก้ไขกฎหมายเห็นด้วยก็ไปร่างแนวทาง แต่ส่วนตัวเห็นว่าหากสมมุติเห็นด้วยแล้วมาทำการขึ้นทะเบียน ก็สามารถขึ้นทะเบียนกับ สบส.ก็ได้ หรือจะขึ้นทะเบียนกับสถานพยาบาลก็ได้ หรือขึ้นทะเบียนไว้ตรงกลางก็ได้ ไม่เป็นไร แต่ขอให้รู้ว่ามีตัวตน มีคุณสมบัติ จะได้ไม่ถูกหลอกหรือแอบทำแบบผิดกฎหมายเหมือนในอดีต ก่อนจะมีกฎหมายนี้เกิดขึ้น ที่มีการแอบทำแล้วพบว่าทารกที่เกิดจากการอุ้มบุญมีภาวะดาวน์ซินโดรม ทำให้ผู้ว่าจ้างหนีไป คนอุ้มบุญก็ไม่กล้าแจ้งความเพราะตัวเองทำผิดกฎหมาย

“ตามกฎหมายเราให้คนที่รับอุ้มบุญต้องเป็นเครือญาติ แต่มีข้อยกเว้นให้กับคนที่อาจจะไม่มีญาติแต่อยากมีลูกสามารถให้คนอื่นรับอุ้มบุญให้ได้ กรณีที่บอกว่าคนอื่นนี่แหละก็เป็นการรับจ้างอุ้มบุญ แต่ไม่ได้พูดว่ารับจ้างเท่านั้นเอง ดังนั้นเรากำลังทำให้เรื่องนี้ขึ้นมาอยู่บนดิน ไม่ถูกกดขี่” นพ.ธเรศ กล่าว และว่านอกจากนี้กฎหมายยังจะมีการแก้ไขเพิ่มอัตราเจ้าพนักงาน และแก้ไขให้ชาวต่างชาติสามารถเข้ามาทำอุ้มบุญในไทย รวมถึงการเปิดให้ฝากไข่ สเปิร์ม ตัวอ่อน ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามกฎหมายปัจจุบันมีข้อกำหนดว่าการดำเนินการตั้งครรภ์แทนผู้ให้บริการจะต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) โดยยื่นเอกสารที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โดยหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนต้องเป็นสายเลือดเดียวกันกับคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและเคยมีบุตรมาแล้ว โดยคลอดทารกตามธรรมชาติไม่เกิน 3 ครั้ง หากผ่าคลอดต้องไม่เกิน 1 ครั้ง และมีอายุระหว่าง 20-40 ปี ทั้งนี้หญิงรับตั้งครรภ์แทนรับอุ้มได้ไม่เกิน 2 ครั้ง คู่สมรสที่ใช้วิธีการอุ้มบุญต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด และห้ามเลือกเพศทารก.