เมื่อเวลา 10.05 น. วันที่ 18 ก.พ. ที่รัฐสภา การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ  เพื่อพิจารณา “ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี” วันที่สอง โดยมีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่สอง ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม

โดย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนขออภิปรายนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ในประเทศไทยปัจจุบันดูแล้วพอใช้ได้ แต่ข้อมูลที่แท้จริงใน 70% มีคนฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย 2 เข็มอยู่ 16.17% ทำให้ต่อกรกับสายพันธุ์เดลต้า และโอมิครอนได้เพียงกว่า 50% เท่านั้น ตอนนี้ยังเหลือเค้กก้อนโตที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน คือ เด็กอายุ 0-12 ปี จำนวน 9 ล้านคน คิดเป็น 15% ของประชากรที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แม้ว่าตอนนี้องค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติให้เด็ก อายุ 5 ปีขึ้นไป สามารถฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม แต่เกิดข้อน่าสงสัยที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศว่า จะมีการนำวัคซีนซิโนแวคมาฉีดให้เด็กอายุ 3 ปี ทั้งที่ทั่วโลกเขาฉีดวัคซีนไฟเซอร์ฝาส้มให้กับเด็ก

นพ.วาโย อภิปรายว่า โดยนายอนุทินและ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมารับลูกสนับสนุนให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคกับเด็ก แม้ว่ายังไม่มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตายในเด็ก และผลการศึกษาของต่างประเทศก็ยังไม่มีข้อมูลเหล่านี้ ฉีดไปก็ต้องเสี่ยงกับผลข้างเคียงด้วย และถามว่าทำไมตอนนี้ยังมีวัคซีนซิโนแวคอยู่ ยังเหลืออีกหรือ หรือว่าแอบสั่งมาเพิ่ม เพราะวัคซีนเชื้อตายในผู้ใหญ่ ข้อมูลถึงทางตันแล้วพบว่าใช้ไม่ได้ แต่มาผลักดันใช้ในเด็ก คนไทยเป็นหนูทดลองไม่พอ ท่านยังเอาลูกหลานมาเป็นหนูทดลองต่อ ตนขอส่งเสียงดังๆ ถึงหมอเด็กว่าถ้าไม่เห็นด้วยกับการกระทำแบบนี้ก็ต้องออกมา เหมือนกับที่ท่านเคยหยุดคนไข้มาไล่อะไรสักอย่าง เด็กไทยสูญเสียโอกาสหลายอย่าง

นพ.วาโย อภิปรายต่อว่า ชะตากรรมของเด็กไทยสอบทีแคส หากติดโควิด-19 แล้วหายไม่ทันก่อนสอบจะทำอย่างไร แต่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กลับบอกว่าให้ไปสอบปีหน้า หรือเลือกสาขาที่ไม่ใช้คะแนนสอบ รวมทั้งหากไม่ได้สอบก็ขอเงินคืนไม่ได้ เพราะบอกว่าเป็นการสร้างภาระ รวมถึงก่อนเข้าสนามสอบก็ไม่มีมาตรการตรวจเอทีเคให้ อีกทั้งมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสนามสอบก็ไม่ดีพอ

นพ.วาโย อภิปรายด้วยว่า ส่วนชาตะกรรมของผู้ใหญ่คนไทย ซึ่งนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวมล้อม (ทส.) ตอบคำถาม น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่องน้ำมันรั่ว ตนฟังได้ความรู้มากมาย แต่ก็งงว่าสรุปน้ำมันรั่วเท่าไหร่กันแน่ 4 แสนลิตร หรือ 1.6 แสนลิตร หรือ 5 หมื่นลิตร ขณะเดียวกันได้เทสารเคมีเพื่อให้น้ำมันกระจาย 6-7 หมื่นลิตร สรุปน้ำมันรั่ว 5 หมื่นลิตร แต่เทสารเคมี 7 หมื่นลิตร จากข้อมูลที่ศึกษาพบว่า บริษัทผู้ผลิตสารเคมีแนะนำการใช้สารเคมี 1 ต่อ 20 หรือ 1 ต่อ 30 เพื่อได้ผลลัพธ์การบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพ เบื้องต้นได้อนุมัติให้ใช้สารเคมี 4 หมื่นลิตร ต่อมาอนุมัติเพิ่มเติมอีก 3.64 หมื่นลิตร จากนั้นอนุมัติเพิ่มอีก 9 พันลิตร ตนจึงตั้งคำถามว่าน้ำมันรั่วเท่าไหร่กันแน่

“สุดท้ายน้ำมันก็เข้าสู่ชายฝั่ง จนทำให้พี่น้องชาวประมงเจอสัตว์น้ำที่มีน้ำมันติดมาด้วย ซึ่ง น.ส.เบญจา หวังดีเอาปูมาให้มารัฐมนตรีกิน แต่ไม่ได้เอาน้ำจิ้มมา แต่นายวราวุธ ได้แขวะ น.ส.เบญจา ว่า ทำไมไม่เอาน้ำจิ้มมา และยังกินปูโชว์ว่าปลอดภัย แต่ น.ส.เบญจา ได้ถ่ายรูปปูทุกตัวไว้ บอกว่า ลายปูและหนังยางที่รัดไว้ไม่เหมือนกัน ขนาดเรื่องปูยังเอาตัวอื่นมากินเลย” นพ.วาโย อภิปราย.