เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช พร้อมด้วย น.ส.สุธิดา เนาว์รุ่งโรจน์, นายจักรกฤษณ์ วิบูลย์ลักษณากุล และน.ส.ลักษมน วิบูลย์ลักษณากุล ซึ่งเป็นเจ้าของโรงงานผลิตขนมหวาน เข้าแจ้งความกับ พ.ต.ท.หญิง บุญทิวา เลิศศิริลักษณ์ รอง ผกก.สอบสวน กก.1.บกป. เพื่อให้ดำเนินคดีกับแรงงานชาวเมียนมา จำนวน 14 คน และผู้อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมาอีก 1 คน ในข้อหา “แจ้งข้อความอันเป็นเท็จให้ผู้อื่นได้รับโทษทางอาญาโดยมิได้มีกระทำความผิดเกิดขึ้น และกรรโชกทรัพย์”

ทนายอนันต์ชัย กล่าวว่า คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 มกราคม ปีที่ผ่านมา ทางเจ้าหน้าที่กองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI พร้อมด้วย และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ได้เข้าช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมา จำนวน 18 คน จากบ้านเลขที่ 6 หรือ 59/18 ซอยลาดพร้าว-วังหิน 6 ถนนลาดพร้าว-วังหิน แขวง-เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร

แรงงานชาวเมียนมา จำนวน 14 คน แจ้งความอันเป็นเท็จ ว่า ถูกบริษัท แอบโซลูท แม็กซิมัมจำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มชูก้าร์ และเจ้าของโรงงานทั้ง 3 คน ใช้อุบายหลอกลวง ฉ้อฉล ว่าจะมีรายได้ และสวัสดิการดี มีที่พักอาศัยให้ฟรี มีอาหารฟรี มีวันหยุดทุกสัปดาห์ มีค่าทำงานล่วงเวลาจ่ายเป็นรายชั่วโมง ทำให้แรงงานชาวเมียนมาทั้ง 14 คนหลงเชื่อ ตกลงทำงานเป็นลูกจ้าง และเมื่อทำงานแล้ว กลับถูกหน่วงเหนี่ยวกักขัง บังคับใช้แรงงาน โดยทำงานตั้งแต่เวลา 07.00-22.00 น. บางครั้งต้องทำงานถึงเวลา 09.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

อีกทั้ง ไม่จ่ายค่าล่วงเวลาตามกฎหมายกำหนด และต้องยืนทำงานตลอดเวลาเกิน 8 ชั่วโมง โดยไม่มีเวลาพัก แต่ให้สับเปลี่ยนกันไปกินข้าว และทำงานต่อ จ่ายค่าแรงต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด หากทำงานล่าช้า หรือไม่ได้ดั่งใจ ก็จะเกรี้ยวกราด โมโห ดุด่า ขู่ว่าจะตัดเงิน และข่มขู่ว่าจะจับตัวส่งตำรวจ เพราะเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ทำให้แรงงานชาวเมียนมา ทั้ง 14 คน อยู่ในสภาวะจำยอม มีการปิดล็อกประตูด้านนอก ห้ามออกจากโรงงาน และที่พักอาศัย มีสภาพแออัด สกปรก มีกลิ่นเหม็นอับ ไม่มีที่นอนหมอนมุ้ง 

โดยต้องนำกล่องกระดาษมาปูเป็นที่นอน มีห้องน้ำใช้ขับถ่ายเพียงห้องเดียว มีอาหาร 2 มื้อ ไม่ถูกสุขลักษณะ หากแรงงานชาวเมียนมาคนใดจะขอลาออก ก็จะบังคับให้จุดธูปสาบานต่อศาลพระภูมิ ว่าจะไม่ร้องเรียนสถานทูต หรือหน่วยงานต่างๆ ถือเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำให้ปราศจากเสรีภาพทำให้เจ้าหน้าที่ DSI และอัยการพิเศษฝ่ายคดีค้ามนุษย์ 2 หลงเชื่อ จึงสั่งฟ้องบริษัท แอบโซลูท แม็กซิมัม จำกัด, ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มชูก้าร์ และเจ้าของโรงงานทั้ง 3 คน เป็นคดีที่ศาลอาญา

ทนายอนันตชัย กล่าวว่า แต่ในความจริงแล้ว เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2563 แรงงานชาวเมียนมา ทั้ง 18 คน ได้มาทำงานกับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มชูก้าร์ ในลักษณะการจ้างเหมาบรรจุขนมเยลลี่ โดยทำงานแบบไปเช้า-เย็นกลับ โดยแรงงานชาวเมียนมา กลุ่มนี้ได้เช่าห้องพักที่อื่น แต่ในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม 2563 เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว ที่จังหวัดสมุทรสาคร 

ดังนั้น ทางรัฐบาลได้มีประกาศห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้า-ออกพื้นที่เสี่ยง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ทำให้แรงงานต่างด้าวหลายพื้นที่ถูกนายจ้างนำไปทิ้ง และเจ้าของบ้านเช่าก็ขับไล่ไม่ให้เช่า ในส่วนของแรงงานชาวเมียนมา ทั้ง 18 คน ก็เช่นเดียวกัน ถูกเจ้าของบ้านเช่าไล่ออกจากบ้านเช่า จึงมาขอความช่วยเหลือจากห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็มชูก้าร์ และเจ้าของโรงงานทั้ง 3 คน เพื่อขอเข้าพักอาศัยในบ้านที่เกิดเหตุในคดีนี้ เนื่องจากไม่มีที่ไป ซึ่งทางเจ้าของโรงงานทั้ง 3 คน จึงให้ความช่วยเหลือ ให้ที่อยู่ที่กิน แต่ปรากฏว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 18-25 มกราคม 2564 นางคิน นิน ชู กับพวกอีก 2 คน ไม่ยอมทำงาน ทางโรงงานก็จะไล่ออกเพราะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี กลับไม่ยอมออก แต่ไปวางแผนร่วมกับนายเน ซอ โม ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมา และนายเย เท อ่อง หรือ ยี เต็ด ออง หรือ ชัยสาม ให้เรียกเงินตบทรัพย์จากเจ้าของ จำนวน 6,000 บาท

มิฉะนั้น จะเรียกตำรวจ ทหารทั้งประเทศไทยมาจับ เมื่อทางเจ้าของโรงงานทั้ง 3 คน ไม่ให้เงินดังกล่าว จึงร่วมกันวางแผนแจ้ง DSI ว่าถูกกักขัง และบังคับใช้แรงงานโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อนที่จะไล่นางคิน นิน ชู กับพวกอีก 2 คน ออกในวันที่ 25 มกราคม 2564 โดยมีการบันทึกเทป และสอบถามกับแรงงานชาวเมียนมา ทั้ง 18 คน ว่าได้มีการหน่วงเหนี่ยวกักขังหรือไม่ และในการทำงานได้รับเงิน และมีสวัสดิการที่ดีหรือไม่ ซึ่งแรงงานชาวเมียนมาทั้งหมดต่างก็ยอมรับว่า ไม่มีการหน่วงเหนี่ยวกักขัง ข่มขู่ หรือกระทำผิดต่อกฎหมายแรงงาน ตามที่มีการแจ้งความอันเป็นเท็จแต่อย่างใด

ขณะที่เจ้าของโรงงานทั้ง 3 คน ระบุว่าตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ที่ผ่านมา ทาง DSI ไม่เคยแจ้งข้อกล่าวหา หรือไม่เคยมีหมายเรียกพวกตนไปให้การ หรือชี้แจงข้อเท็จจริง แต่เจ้าหน้าที่ DSI กลับมาจับกุมตัวพวกตน ที่ศาลแรงงานกลางเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 และได้สอบสวนตั้งแต่เวลา 20.00-02.00 น. โดยไม่ยอมให้ประกันตัว และให้เข้าห้องขังที่ DSI 1 คืน และหลังจากนั้นเพียง 8 วัน ก็ส่งฟ้องต่อศาลอาญา โดยไม่ให้โอกาสพวกตนได้ยื่นเอกสารเพิ่มเติมประกอบคำให้การ อีกทั้ง DSI ก็มิได้สอบสวนพยานแวดล้อม คือ ผู้ที่พักอาศัยภายในซอยที่เกิดเหตุ ว่ามีการกักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงานชาวเมียนมาจริงหรือไม่  จึงทำให้พวกตนได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเป็นอย่างมาก จึงได้ตัดสินใจมาแจ้งความดำเนินคดีกับแรงงานชาวเมียนมาจำนวน 14 คน และผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตเมียนมา อีกด้วย

เบื้องต้นทางพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำ เพื่อเสนอให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป