เมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล แถลงว่า พรรคก้าวไกลได้ติดตามการที่รัฐบาลยังปกปิดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ซึ่งในการอภิปรายญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา สมาชิกก็ได้นำเสนอหลักฐานต่างๆ มากมายเกี่ยวกับกรณีนี้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ก็ยังไม่ยอมรับว่าโรค ASF ได้มีการระบาดมาตั้งแต่ปี 2563 ทางอธิบดีกรมปศุสัตว์ก็บอกว่า ไทยเป็นประเทศที่มีระบบป้องกันโรคดีที่สุดในอาเซียน ขณะที่นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ก็ชี้แจงสาเหตุที่มาจากกลไกการตลาดที่บิดเบือน ไม่เกี่ยวกับโรค ASF ขณะเดียวกัน ทางเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรยังได้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมมาที่เรา เพื่อยืนยันว่ามีการระบาดของโรคมาตั้งแต่ปี 63

“ถือว่าไม่รับผิดชอบ ไม่ยอมรับ ไม่แก้ปัญหา ไม่ปรับคณะรัฐมนตรี ในเมื่อประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ พรรคก้าวไกลได้เตรียมที่จะยื่นฟ้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ไม่ประกาศให้โรค ASF เป็นโรคระบาด ขณะที่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ในฐานะกำกับดูแล สั่งการ ปฏิบัติหน้าที่ แต่ละเลย จะยื่นฟ้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบการทุจริต (พ.ร.บ.ป.ป.ช.) ปี 2561 มาตรา 172 นอกจากนี้จะมีการยื่นต่อคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ป.ป.ช.) ด้วย กรณีที่มีการปกปิดโรค มีการเรียกรับผลประโยชน์จากด่านกักกันสัตว์ หากตรวจสอบพบรัฐมนตรี หรือข้าราชการใดเกี่ยวกับกับการเรียกรับผลประโยชน์ จะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 173, 174, 175 ของ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ด้วย” นายปดิพัทธ์ กล่าว

นายปดิพัทธ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้พรรคก้าวไกลจะมีลงพื้นที่การศึกษา และเก็บข้อมูล จากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น เจ้าของเขียงหมู ร้านหมูกระทะ ที่แบกรับต้นทุนไม่ไหวทำให้ต้องปิดตัวลง เพื่อนำมาประกอบการฟ้องแพ่ง หรือรวมกลุ่มฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นหมู่คณะ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกฎหมายของพรรคก้าวไกล กำลังรวบรวมรายละเอียดต่างๆ ทั้งการฟ้องร้องรัฐมนตรี ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง การฟ้องแพ่ง เมื่อชัดเจนแล้วจะแจ้งให้ทราบต่อไป

เมื่อถามถึงบุคคลที่จะฟ้องร้องในเรื่องนี้ นายปดิพัทธ์ กล่าวว่า ที่แน่ๆ ก็คือรัฐมนตรีที่มีชื่ออยู่ในคณะกรรมการป้องกันและกำจัดโรค ASF 3 ราย คือ 1.นายกรัฐมนตรี 2.รมว.เกษตรและสหกรณ์ และ 3.รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ส่วนข้าราชการ เนื่องจากความเสียหายที่เป็นวงกว้าง และมีหลายมิติ คงต้องให้ฝ่ายกฎหมายพรรคก้าวไกล ตรวจสอบ และศึกษารายละเอียดก่อนว่ามีใครบ้าง มีค่าความเสียหายเท่าใด ซึ่งจากข้อมูลที่เราได้รับมา อาจจะมีการเอาผิดข้าราชการระดับตัวเล็กตัวน้อย เนื่องจากไม่สามารถรายงานข้อเท็จจริงตรงไปตรงมาได้ เพราะระดับรัฐมนตรี และอธิบดีไม่ยอมให้เปิดเผย ซึ่งอธิบดีกรมปศุสัตว์ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้

“ยืนยันว่าจะเดินหน้าฟ้องร้องแน่นอน แม้จะมีการชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในการอภิปรายวันนี้ (18 ก.พ.) เพราะทุกอย่างช้าเกินไปแล้ว ที่ผมถามนายกฯ ไปในการอภิปรายเมื่อวาน ไม่ใช่ว่าให้ยอมรับหรือไม่ แต่หลักฐานคาตาขนาดนี้ นายกฯ กล้าปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่ ก็ไม่มีการตอบเรื่องนี้ ยังไงแนวทางของนายกฯ ที่ลอยตัวพ้นผิด คงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ถ้าเปลี่ยน เปลี่ยนนานแล้ว” นายปดิพัทธ์ กล่าว.