เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดงานสัมมนาเรื่อง “สายสีเขียวจะไปอย่างไรต่อ” โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้าร่วม

ทั้งนี้นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการจัดสัมมนาครั้งนี้ว่า เป็นการจัดสัมมนาเพื่อหาทางออกให้กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1.เพื่อได้รับทราบสถานะโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบัน 2.เพื่อได้ทราบข้อมูลที่จะฝ่ายเสนอต่ออายุสัมปทานว่าจะเป็นผลดีผลเสียต่อประชาชนอย่างไรในการเลือกวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนและ 3.เป็นการใช้เวทีระดมความคิดเพื่อหาทางออกจากภาคประชาชนร่วมกัน โดยเวทีนี้เป็นการนำข้อมูลข้อเท็จจริงมาให้สาธารณชนได้รับทราบถึงข้อมูลการตัดสินใจของรัฐบาล

ทางด้าน น.ส.สารี กล่าวว่า หากเราไม่ทำอะไรเลย ก็จะขาดโอกาสที่ทำให้ระบบรถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนจริงๆ จะทำอย่างไรให้ทุกคนสามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้จริง เช่นใน 100 คน มีคนใช้รถส่วนตัว 40 คน และในบริการขนส่งมวลชนทั้งหมดมีใช้รถไฟฟ้าเพียง 3 คน ด้วยเหตุผลราคาแพง หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศที่รวยกว่าเรา แต่เขาจ่ายค่าเดินทางน้อยกว่าเราเยอะ ทำไมบ้านเราถึงแพง โดยเฉพาะกรณีที่เสนอคณะรัฐมนตรี 65 บาทนั้น ถามว่าจะทำให้ทุกคนไปใช้บริการได้อย่างไร ทำให้เกิดปัญหาและเชื่อว่าทุกภาคส่วนพยายามหาทางแก้ไขปัญหา

ตอนนี้ที่เราทำได้คือต้องชะลอการต่อสัญญาสัมปทาน เรายังเหลือเวลา 7 ปี ในการดำเนินการต่อสัญญา ดังนั้นต้องหาทางออกว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้หมดโอกาสในการจัดการรถไฟฟ้าในประเทศ และต้องไม่สร้างภาระให้กับคนรุ่นต่อไป ในส่วนของตน มีจุดยืนคืออยากเห็นว่ารัฐบาลและ กทม. ต้องจ่ายหนี้บริษัท อย่าให้ทำบริษัทเขามีปัญหาเรื่องสภาพคล่องและจะได้ไม่ต้องไปฟ้องร้องกัน ทั้งนี้จากการคำนวนค่าโดยสาร 65 บาท จะพบว่าเราอยู่ไม่ได้แน่นอน อยากให้นึกย้อนไปตอนบีทีเอสยกเลิกตั๋วเดือน ทำให้คนเดือดร้อนมาก จะเห็นว่าคนที่ใช้รถไฟฟ้าประจำจะสามารถจ่ายได้ 24-28 บาทเท่านั้น สิ่งที่เราต้องดูแลคือการทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนต่อเดือนหรืออัตราสูงสุดต่อวันรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องสามารถทำเรื่องเหล่านี้ ถ้าทำไม่ได้ก็ให้คนที่เขาทำได้มาทำ

ทั้งนี้ตัวเลขของ กทม. 65 บาท จะทำให้มีรายได้ 597,566 ล้านบาท ส่วนตัวเลขของกระทรวงคมนาคมประมาณ 50 บาท ทำให้มีรายได้ 380,200 ล้านบาท ถ้าเราลดค่าโดยสารลงเหลือ 25 บาท ก็ยังทำให้ กทม.มีรายได้อยู่ที่ 23,200 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าประเทศเราทำได้ แต่หาก ครม.พิจารณาแล้วเราก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องปฏิบัติตาม เราทำได้อย่างมากก็คือเสียค่าโง่ ดังนั้นทุกฝ่ายควรพิจารณาราคาให้ดีและเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ซึ่งราคา 65 บาท ถือว่าไม่เป็นธรรม ตนมีข้อเสนอระยะสั้นว่า สิ่งที่ กทม.ควรทำคือต้องเก็บเงินส่วนต่อขยาย ไม่ใช่อยู่ดีๆ ให้คนขึ้นฟรี เพราะต้องมองทั้งระบบ เพื่อไม่ให้ไปลดทอนสิทธิของบริษัท

อีกทั้ง กทม.ควรหารายได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น สถานีต่างๆ ที่ยังไม่ได้ทำอะไร เราทำเรื่องที่ง่ายให้มันซับซ้อนพันไปหมด จนไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เชื่อว่า กทม.จะสามารถหาเงิน 3 หมื่นกว่าล้านบาท มาจ่ายคืนให้บริษัทได้อย่างแน่นอน ส่วนข้อเสนอหลังหมดสัญญาสัมปทานก็ขอให้ประมูลเดินรถใหม่ ควรยึดว่าใครจะทำให้มีราคาถูกท่ามกลางมาตรฐานการให้บริการที่ประชาชนยอมรับได้ แต่ถ้ารัฐบาลพิจาราใช้ 65 บาท ระวังผิดมาตรา 157 ว่ากำลังเอื้อประโยชน์ให้ใครหรือไม่ และยังสร้างภาระให้ผู้บริโภค

“เชื่อว่า กทม.จ่ายหนี้ได้แน่นอน สิ่งที่สำคัญคือถ้าทำอะไรโดยไม่คิดถึงอนาคตเราจะเสียโอกาส จะมีแต่ค่าโง่ตามมา แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหน อยากให้ทุกส่วนรักษาผลประโยชน์ประชาชน ช่วยกันดูแล เอกชนควรร่วมมือรัฐบาลและไม่เอาเปรียบใครเลย” น.ส.สารี กล่าว

ส่วนนายชัยวัฒน์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยรับฟังความคิดเห็นจากหลายแนวทาง ในส่วน กทม.ก็ให้ความเห็นว่าหากให้ลดหนี้ด้วยและลดค่าโดยสารด้วย กทม.จะอยู่อย่างไร ส่วนข้อเสนอที่ให้รัฐบาลจ่ายหนี้แทน มีคำถามว่าทำไมรัฐบาลต้องเลือกมาดูแลเฉพาะคนขึ้นบีทีเอส คนอีกกลุ่มบอกว่าไม่งั้นรัฐบาลและกทม.ช่วยกันได้หรือไม่ ส่วนที่กระทรวงมหาดไทยมาเกี่ยวข้องเพราะเรื่องอะไรก็แล้วแต่ของ กทม.จะนำเข้าที่ประชุม ครม.เองไม่ได้ กระทรวงมหาดไทยต้องนำเรื่องเข้าแทน หลักการเจรจาของ กทม.คือหนี้ต้องชำระได้ เราจะไปเบี้ยวเขาไม่ได้ หากบริษัทเขาขาดสภาพคล่องหยุกการเดินรถประชาชนจะเดือดร้อน และเรื่องค่าใช้จ่ายจึงเกินตัวเลขอัตราที่ประชาชนจ่าย 65 บาท เพื่อให้บริษัทเดินรถได้ กทม.ใช้หนี้ได้ ทำให้ประชาชนต้องจ่ายอัตรานี้

ขณะที่นายสุรเชษฐ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ซับซ้อนจริง แต่ปัญหาคือเรื่องกำลังจ่อเข้าที่ประชุม ครม. วันนี้ตนมาในนามพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยในการขยายสัญญาสัมปทาน ทั้งนี้คนที่รู้เงื่อนงำการเจรจาต่อสัญญาดีที่สุดก่อนจะมาเข้า ครม. 1 ในนั้น คือ นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ ดร.เอ้ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยไปนั่งเป็นกรรมการต่อรองราคา สุดท้ายพอตัวเองจะมาลงเป็นผู้ว่าฯก็ไม่กล้ายืนกับสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจในนามกรรมการวันนั้น ไม่กล้าบอกว่าตัวเองเห็นด้วยกับการขยายสัญญาสัมปทาน หากเรื่องนี้ผ่านการพิจารณาของ ครม. เรากำลังจะเสียสัมปทานสายสีเขียวแบบไม่ชอบธรรม เพราะใช้ระบบที่ใหญ่เกินไปต่อความจำเป็น ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจและทางการเงิน ทุกวันนี้ กทม.ใช้เงินแบกอยู่ และไม่คุ้มค่า ขาดทุนไม่เยอะยังแบกไหว แต่ถ้ามโหฬารจะเอาเงินที่ไหนไปแบก นอกจากเงินภาษีปัจจุบันและเงินกู้ในอนาคต คนสร้างไม่ได้จ่าย แต่กลับให้ผู้ใช้เป็นคนจ่าย ถามว่าจะไหวหรือไม่ ส่วนทางออกต้องใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนปี 62

ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น ขึ้นอยู่กับการเมืองตัดสินใจและเงื่อนไขการเจรจา รวมถึงรายละเอียดในสัญญา หากจะเดินตามผู้มีอำนาจปัจจุบันคือกระทรวงมหาดไทย อย่างน้อยที่สุดต้องมาพร้อมกับความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ตอนนี้ยังมีใครกล้าพูดว่าเอาด้วยกับการขยายต่อสัญญาสัมปทาน เพราะมันไม่มีใครกล้าออกมา ทุกพรรคการเมืองรวมถึงรัฐมนตรีที่จะกล้าเห็นด้วย อย่างน้อยที่สุดคือถอนออกมาก่อน และต้องเจรจาใหม่แบบเปิดเผยและโปร่งใส ส่วนเรื่องค่าเดินทาง หากพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลจะผลักดันเรื่องตั๋วร่วมที่มีทุกสายมาร่วม โดยเฉพาะสายสีเขียว หากผู้ว่าฯ เป็นคนจากพรรคก้าวไกล เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราจะหาเสียง รวมถึงเรื่องค่าโดยสารร่วม เช่น รถเมล์ร่วมรถไฟฟ้า และไม่คิดค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน