เมื่อวันที่ 21 ก.พ. น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ว่า ประเด็นเรื่องเหมืองทองอัคราได้ถูกนำมาเปิดเผยในสภาฯมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง รวมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม โดยมี 6 พฤติกรรม ในการชี้แจงหรือตอบคำถาม ดังนี้ พฤติกรรมที่ 1. คือตอบเหมือนเดิม พรรค พท.หยิบยกเรื่องนี้อพิปรายรวม 4 ครั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีที่ลุกมาตอบคำถามแทน กลับยังใช้ข้อมูลชุดเดิมที่ไม่ฟังขึ้นชี้แจงซ้ำซาก ยืนยันว่าเราไม่เห็นด้วยกับการใช้ ม.44 เข้าไปจัดการ สุดท้ายต้องเปิดเหมืองคืนให้กับบริษัทอัคราฯ และยังให้พื้นที่สำรวจแร่ทองคำเพิ่มอีกมหาศาล พฤติกรรมที่ 2 เลือกตอบบางคำถามแต่ตอบไม่ตรงคำถาม เมื่อถูกถามถึงการเลื่อนออกคำชี้ขาดไปหลายครั้ง ได้รับคำตอบโดยอ้างว่าเพราะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ข้อเท็จจริงการไต่สวนและสืบพยานหลักฐานของคดีเหมืองทองอัคราฯ จบไปตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 63 คณะอนุญาโตตุลาการพร้อมอ่านคำชี้ขาดแล้ว แต่มีการขอเลื่อนการอ่านคำชี้ขาดจึงยังไม่ได้มีการตัดสิน และบริษัทคิงส์เกตฯ ยังแจ้งในแถลงการณ์ต่อตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 23 ก.ย.64 ว่า ไทยกับคิงส์เกตฯ ขอเลื่อนการออกคำชี้ขาดไปเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้เจรจาหาข้อยุติข้อพิพาทกัน และยังระบุด้วยว่ากำลังเจรจาต่อรองกันทั้งหมด 11 รายการ เห็นว่าทั้งๆ ที่มีหลักฐานเอกสารชัดเจน แต่ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีที่ลุกขึ้นชี้แจงแทนก็ยังยืนยันเสียงแข็งปฏิเสธ แบบนี้ถือว่าเป็นการพูดเท็จกลางสภาฯหรือไม่

พฤติกรรมที่ 3 ไม่ตอบคำถาม พล.อ.ประยุทธ์ ไม่กล้าเปิดเผยกับประชาชนในประเด็นที่ไทยถูกบริษัทคิงส์เกตฯ ฟ้องร้องในประเด็นใดบ้างและเรียกร้องค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าไร่ และถ้าไทยแพ้คดีใครต้องเป็นคนรับผิดชอบ ซึ่งเดิมมีคดีพิพาทในพื้นที่แค่ 3,000 กว่าไร่ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ กลับรีบอนุมัติคืนพื้นที่ 3,000 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นของกลางอยู่ ให้บริษัทอัคราฯ กลับไปดำเนินการได้แล้ว และยังได้พื้นที่สำรวจเพิ่มกว่า 400,000 ไร่ และจ่อจะอนุญาตคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่อีก 600,000 ไร่ รวมเป็นกว่า 1 ล้านไร่ ทั้งยังมีอีกประเด็นในเรื่องของที่ดินที่รออนุมัติคำขอประทานบัตร 600,000 ไร่ ยังมีพื้นที่ทับซ้อนกับเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย จ.พิษณุโลก พฤติกรรมที่ 4 คือ ให้คนอื่นตอบคำถามแทน ซึ่งพฤติกรรมนี้คล้ายกับเหตุการณ์เมื่อครั้งมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุดกรณีการทุจริตวัคซีนซิโนแวค พล.อ.ประยุทธ์ ใช้วิธีให้ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขออกมาแถลงข่าวตอบคำถามแทนรัฐบาล ส่วนรอบนี้ให้ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มาอภิปรายชี้แจงแทน ซึ่งตามหลักการแล้วการยื่นญัตติ ม.152 เป็นการยื่นญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านเพื่ออภิปรายซักถามและเสนอแนะปัญหาต่อนายกฯ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งวันนั้นปรากฏว่า ส.ส.พรรค พปชร. ได้ลุกขึ้นอภิปรายชี้แจงแทนนายกฯ ซึ่งตามมารยาทต้องให้นายกฯ หรือรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้ตอบ เพราะประชาชนต้องการฟังนายกฯ ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 และเป็นผู้รับผิดชอบต่อคดีนี้โดยตรง

พฤติกรรมที่ 5 คือ กล่าวโทษทุกคนยกเว้นตัวเอง ทุกครั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลุกขึ้นชี้แจงจะโทษทุกคน โทษฝ่ายค้าน โทษประชาชน แต่ไม่เคยโทษตัวเอง ล่าสุดมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นชี้แจงโดยใช้วิธีเหมือนจะโยนความผิดเรื่องเหมืองทองอัคราให้กับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยเอาภาพตอนนายทักษิณ ไปเปิดเหมืองทองอัคราในปี 44 มาแสดงต่อสภาฯ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ เพราะแม้เหมืองทองอัคราฯ ได้สิทธิส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และเริ่มดำเนินการผลิตทองคำเชิงพาณิชย์ในปี 44 ตรงกับยุครัฐบาลไทยรักไทยพอดี แต่แท้จริงแล้วเหมืองอัคราฯ จดทะเบียนในประเทศไทยตั้งแต่ปี 36 และได้เริ่มสำรวจแร่ในประเทศไทยปี 37 และได้รับประทานบัตรทำเหมือง รวมเหมืองชาตรีใต้ในปี 43 ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีรัฐบาลพรรคไทยรักไทย นายทักษิณทำพิธีเปิดเหมืองตามตำแหน่งหน้าที่ในตอนนั้น แต่จุดศูนย์กลางของปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นในตอนนั้นแต่อย่างใด พล.อ.ประยุทธ์ คิดอะไรไม่ออกก็โทษตระกูลชินวัตร และพฤติกรรมที่ 6 ข่มขู่ผู้อภิปราย ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มีการเบี่ยงเบนประเด็นด้วยการข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องฝ่ายค้าน ในการอภิปรายมาตรา 152 ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ข่มขู่ตนให้ระวังการนำเสนอข้อมูล ซึ่งตนยืนยันว่าไม่กลัว เพราะเอกสารหลักฐานที่นำมาแสดงต่อสภาฯ เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์บริษัทคิงส์เกตฯ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ หากเชื่อว่าเอกสารมีเนื้อหาเป็นเท็จ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องไปฟ้องร้องบริษัทคิงส์เกตฯ เอง หากท่านไม่ฟ้องร้องก็แสดงว่าข้อมูลทุกอย่างที่ดิฉันนำเสนอนั้นเป็นเรื่องจริงทั้งหมด

น.ส.จิราพร กล่าวอีกว่า หากไทยมั่นใจว่าจะชนะคดีเหตุใดจึงมีการเจรจาประณีประนอมยอมความระหว่างไทยกับคิงส์เกตฯ แต่ได้รับคำตอบว่าทำตามคำแนะนำคณะอนุญาโตตุลาการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของทั้งสองฝ่าย แต่อย่าลืมว่าคิงส์เกตฯ ฟ้องร้องประเทศไทย ประเทศไทยตกเป็นจำเลย ถูกเรียกร้องใช้ชดใช้ค่าเสียหาย ถ้าไทยยืนยันว่าที่ใช้ ม.44 เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และมั่นใจว่าจะชนะคดีแน่นอนเหมือนที่ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เคยตอบคำถามสภาไว้ ก็ต้องยืนยันที่จะสู้คดีจนถึงที่สุด ถ้าชนะไทยไม่ต้องเสียอะไร และได้ค่าชดเชยคืนมาด้วยซ้ำ พล.อ.ประยุทธ์ ยังยืนยันหนักแน่นว่า การอนุมติให้นำผงเงินผงทองคำที่ถูกอายัดไว้ออกขาย การอนุญาตให้สำรวจแร่ทองคำที่ในพื้นที่จำนวน 400,000 ไร่ และการต่อประทานบัตรทำเหมืองทองชาตรี 4 แปลง ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการประนีประนอมยอมความ หากไม่ใช่แล้วไทยเอาอะไรไปเจรจาต่อรองกับเขา เขาถึงยอมเจรจาด้วย มันมีมีจริงหรือไม่ที่จะมีการเจรจายอมความกันโดยที่ฝ่ายโจทก์ไม่ได้ประโยชน์ที่สมน้ำสมเนื้อกลับไป แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็บ่ายเบี่ยงไม่มีคำตอบในประเด็นนี้ ทำให้ประชาชนยิ่งเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่าอาจมีดีลใหญ่เพื่อแลกกับการถอนฟ้องจริงหรือไม่

พรรค พท. ไม่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลอยตัวเหนือปัญหาและโยนบาป โยนความรับผิดชอบมาให้ประชาชนต้องรับภาระแทน ไม่อยากเห็นประเทศไทยแพ้คดี และต้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล ไม่อยากเห็น พล.อ.ประยุทธ์ เอาทรัพย์สมบัติประเทศไปชดใช้แทนความผิดของตนเอง ถ้าคำนวณออกมาแล้วมันอาจมากมายมหาศาลมากกว่าที่ไทยต้องชดใช้ในกรณีแพ้คดีเสียอีก เราไม่มีปัญหาหากบริษัทอัคราฯ จะได้สิทธิการทำเหมืองคืนตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการและผ่านกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกต้อง แต่เราไม่อยากเห็นการทำลายหลักนิติรัฐนิติธรรมของประเทศของรัฐบาลโดยการไปเจรจาที่ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายภายในประเทศ ซึ่งจะก่อปัญหาไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่พรรค พท. จะจับตาต่อไป เราจะติดตามว่าการเจรจาประนีประนอมยอมความนั้นถูกต้องสุจริตหรือไม่ โดยใช้กลไกสภาทุกช่องทาง ร่วมมือกับเครือข่ายภาคประชาชนที่มีอยู่ในการตรวจสอบรัฐบาล หากพบว่ามีความผิดปกติและส่อทุจริต แน่นอนว่าเหมืองทองอัคราจะเป็นประเด็นสำคัญที่ใช้อภิปรายเป็นครั้งที่ 5 ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงเดือน พ.ค. 65

“คำพูดของชายชาติทหารที่ไร้สัจจะ ไม่ทำให้ดิฉันหวั่นไหวและเกรงกลัวในการทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์แทนประชาชนเลยแม้แต่น้อย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ชายชาติทหารที่บอกว่ารักชาติรักแผ่นดิน จะรับผิดชอบคดีเหมืองทองอัครา กลับมีพฤติกรรมกลับกลอก ผิดคำพูดตัวเอง เอางบประมาณแผ่นดินกว่า 731 ล้านบาท ไปใช้ในการต่อสู้คดีที่ตัวเองก่อขึ้น โยนความรับผิดชอบให้เป็นภาระของประชาชน ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ มีความเป็นสุภาพบุรุษชายชาติทหารที่พูดแล้วไม่คืนคำ ก็ขอให้คืนเงิน 700 กว่าล้านบาท ก้อนนั้นเข้าคลังแผ่นดิน” น.ส.จิราพร กล่าว.