เมื่อวันที่ 22 ก.พ. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงสาเหตุที่ ครม. เลื่อนการปลดโรคโควิด-19 ออกจากบริการยูเซ็ป (UCEP) จากเดิมผู้ป่วยสามารถเข้ารับการรักษาสถานพยาบาลทุกแห่ง เปลี่ยนไปใช้แนวทางการรักษาตามสิทธิเช่น สิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ เนื่องจาก ครม.ห่วงประชาชน จึงให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปทำความเข้าใจซักซ้อมการให้บริการเนื่องจากขณะนี้ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนค่อนข้างมาก และมีปัญหาการรับโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่เช่น สายด่วน สปสช. 1330 ไม่มีผู้รับสาย ดังนั้น ครม.จึงให้ไปปรับปรุงบริการให้ดีก่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทดลองโทรศัพท์ไปที่สายด่วน 1330 พบว่าเจ้าหน้าที่เหนื่อยล้าพร้อมเปรยว่า “เข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่” และสั่งให้จัดทำแผนรองรับผู้ป่วยให้ชัดเจน ทั้งในส่วนแยกกักตัวที่บ้าน (home isolation) และแยกกักในชุมชน (community isolation)

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ชี้แจงเพิ่มเติมเดิมกระทรวงสาธารณสุข เตรียมดีเดย์ให้วันที่ 1 มี.ค.65 ปรับระบบการบริการให้ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ไปใช้การรักษาตามสิทธิ และเตรียมประกาศการใช้ UCEP PLUS โดยให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) ประกาศให้ ผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มอาการสีเหลือง แดง ใช้บริการได้ทุกที่ฟรีทุกสิทธิในสถานพยาบาลของทั้ง รัฐและเอกชน แต่ ครม.ให้กระทรวงสาธารณสุข กลับไปทำความเข้าใจกับประชาชนโดยเฉพาะกระบวน การติดต่อ, การรักษา และช่องทางต่างๆ ส่วนจะปรับมาเป็นการรักษาตามสิทธิเมื่อใด สบส.จะนำเรื่องเข้าหารือในคณะกรรมการเกี่ยวข้องต่อไป

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สรุปตัวเลขค่าตรวจ รักษาโควิดตั้งแต่ปี 2563 รวมใช้งบประมาณ 1.3 แสนล้านบาท เฉพาะปี 2564 ใช้ไปทั้งสิ้น 5.1 หมื่นล้านบาท ปี 2565 ตอนนี้ใช้ไปแล้ว 3.16 หมื่นล้านบาท กำลังขอเพิ่มอีก 5.1 หมื่นล้านบาท คาดว่าทั้งปีจะใช้ 8.2 หมื่นล้านบาท.