เมื่อเวลา 17.05 น. วันที่ 24 ก.พ. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นางชื่นสุมน นิวาทวงษ์ ตัวแทนจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า มาตรา 90 ในการพิจารณาเกี่ยวกับผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีการพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 48 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากมาตรา 90 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติว่าพรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้ ซึ่งการพิจารณาว่ากรณีใดเป็นกรณีที่ได้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อแล้ว จำเป็นต้องพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 48 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งกำหนดว่าในการสมัครรับเลือกตั้งให้ผู้สมัครได้รับหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร เรียงตามลำดับเลขที่ของหลักฐานการรับสมัครรับเลือกตั้ง ที่ ผอ.การเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งออกให้ ดังนั้น เมื่อพิจารณา 2 มาตรานี้ประกอบกัน สรุปว่าการจะถือว่าได้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตแล้ว ผู้สมัครผู้นั้นจึงจะต้องมีหลักฐานการรับสมัคร และมีหมายเลขผู้สมัครตามมาตรา 48 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว

จนกระทั่งเวลา 17.35 น. ภายหลังการอภิปรายนานกว่า 7 ชั่วโมง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้เสร็จสิ้นในขั้นตอนการอภิปรายแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … แล้วเสร็จ ได้ถึงขั้นตอนของการลงมติว่าจะรับหลักการหรือไม่ โดยใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของที่ประชุม

ทั้งนี้ก่อนการลงมตินายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย เสนอให้ลงมติพร้อมกันทีเดียว 4 ฉบับ ทั้งของ ครม. พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และของพรรคร่วมรัฐบาล แต่นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอให้แยกการลงมติรายฉบับ เพราะมี ส.ว.อภิปรายระบุว่า มีบางฉบับที่อาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งท้ายที่สุดผลการลงมติพบว่าเสียงข้างมาก 429 เสียง ให้ใช้การลงมติแบบแยกรายฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการลงมติพบว่า ที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมาก รับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง (ฉบับที่…) พ.ศ. … ทั้ง 4 ฉบับ ดังนี้ 1.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นด้วยรับหลักการ 609 เสียง ต่อ 16 เสียง และงดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง 2.ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่เสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และคณะ ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นด้วยรับหลักการ 420 เสียงต่อ 205 เสียง งดออกเสียง 14 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง 3.ร่าง พ.ร.ป.ด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่เสนอโดยนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาล ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นด้วยรับหลักการ 598 เสียงต่อ 26 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง และ 4. ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่เสนอโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และคณะนั้นที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติเห็นด้วยรับหลักการ 418 เสียงต่อ 202 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง

จากนั้นตั้งคณะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ 49 คน มีสัดส่วนแบ่งเป็นคณะรัฐมนตรี (ครม.) 8 ราย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)14 ราย ส.ส. 27 ราย อาทิ พรรคเพื่อไทย 8 ราย พรรคพลังประชารัฐ 6 ราย พรรคภูมิใจไทย 3 ราย พรรคก้าวไกล 3 ราย พรรคประชาธิปัตย์ 3 ราย พรรคเศรษฐกิจไทย 1 ราย พรรคชาติไทยพัฒนา 1 ราย เป็นต้น

โดยในส่วนพรรคเสรีรวมไทย เสนอชื่อนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญ โดยที่ประชุมใช้ร่าง ครม.เป็นหลัก ในการพิจารณา กำหนดการแปรญัตติ ภายใน 15 วัน เริ่มประชุม กมธ.วิสามัญ นัดแรกวันที่ 1 มี.ค.นี้ ทั้งนี้ได้ใช้เวลาในการพิจารณาร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง ส.ส. ทั้ง 4 ฉบับ ไปทั้งสิ้น 7 ชั่วโมง 25 นาที คงเหลือเวลา 16 ชั่วโมง 34 นาที

จากนั้นเวลา 18.00 น. ที่ประชุมได้เริ่มพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ….) พ.ศ. …. จำนวน 6 ร่าง