เมื่อวันที่ 25 ก.พ. กลุ่มผู้มีอาชีพอิสระ นำโดย น.ส.อรุณี นุ่มเกตุ อายุ 37 ปี อาชีพขายเสื้อผ้าเด็กบนเว็บไซด์ และนายธีรภัทร เจริญสุข นักแปล เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ให้หาแนวทางช่วยเหลือ หลังได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการโอนเงินข้ามประเทศให้กับผู้ใช้งานทั่วไป ผ่านระบบ Paypal ของบริษัทเพย์พาล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะมีผลในวันที่ 7 มี.ค.นี้ โดยกำหนดให้บุคคลทั่วไปต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จึงจะสามารถดำเนินการรับโอนเงินได้

นายธีรภัทร ระบุว่าทาง Paypal ไม่ควรกำหนดให้ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตั้งแต่แรก เพราะไม่ชี้แจงความชัดเจนในข้อกฎหมายหรือหน่วยงานที่บังคับใช้ให้ทราบ เมื่อทางเราสอบถามไป ได้รับการชี้แจงตอนแรกว่าไม่ได้มีการบังคับให้ต้องเป็นนิติบุคคล สามารถจดทะเบียนพาณิชย์บุคคลธรรมดาได้ ทำให้ผู้ใช้งานไปดำเนินการ จดทะเบียนดังกล่าวกัน แต่เมื่อ 5 ก.พ.65 ที่ผ่านมา กลับมีข้อกำหนดให้ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จึงเกิดความเสียหายขึ้นเพราะความไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงขอความชัดเจนว่า 1.เพย์พาลพูดคุยกับหน่วยงานใดและใช้กฎหมายข้อไหนที่ออกประกาศนี้ 2.เรียกร้องให้การใช้งานไม่ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพราะสร้างภาระในทางกฎหมายและค่าใช้จ่าย 3.รับผิดชอบในการออกประกาศที่ไม่ชัดเจนและเกิดความเสียหายแล้ว 4.ให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้จนกว่า เพย์พาลจะปรับปรุงระบบภายในจนรองรับการใช้งานบุคคลธรรมดาได้

ด้าน น.ส.อรุณี ระบุว่า เธอขายเสื้อผ้าเด็กผ่านเว็บไซต์อีสซี่ให้กับชาวต่างชาติมา 7-8 ปี ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าชาวอเมริกา จึงจำเป็นต้องใช้ PayPal ในการชำระสินค้าแต่เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 64 PayPal ให้ผู้ใช้บริการยื่นทะเบียนพาณิชย์ โดยไม่ได้ระบุรูปแบบว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือไม่ เธอก็ยื่นเอกสารไปเรียบร้อยแล้ว แต่แล้ว PayPal ก็ออกนโยบายใหม่เพิ่มผ่านทางอีเมลอีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 65 ใจความสำคัญของข้อความระบุว่า บัญชี PayPal จะถูกจำกัดการใช้งานตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 65 เป็นต้นไป โดยจะไม่สามารถโอนหรือรับเงินผ่านบัญชี PayPal ได้ ตนจึงมองว่าการลงทะเบียนธุรกิจ (นิติบุคคล) กับทางกระทรวงพาณิชย์ของประเทศไทยจะต้องใช้ระยะเวลานาน จึงอาจไม่ทันในวันที่ 7 มี.ค. ที่จะถึงนี้ ตนจึงอยากร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวนนโยบาย เพราะมีกลุ่มผู้ใช้ที่มีอาชีพฟรีแลนซ์ ขายสินค้าออนไลน์ทั่วประเทศหลายพันคนได้รับความเดือดร้อน

ขณะที่ น.ส.วทันยา กล่าวว่าในส่วนของ กมธ.การเงิน การคลังฯ มีอำนาจในการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงหาแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งหลังจากรับเรื่องอาจจะเชิญ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ มาร่วมหารือ แต่ไม่สามารถบังคับให้หน่วยงานปฏิบัติตามข้อเรียกร้องได้ อีกทั้ง Paypal เป็นองค์กรเอกชน อยู่ภายใต้กำกับของ ธปท. แต่จากที่ได้ทำงานร่วมกับ ธปท.มา เชื่อว่าจะช่วยหาทางแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอน ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการดำเนินการ

เบื้องต้นจะพยายามหาทางให้ Paypal ชะลอการบังคับใช้มาตรการดังกล่าวที่จะเริ่มในวันที่ 7 มี.ค.นี้ ออกไปก่อน เพื่อให้ผู้ใช้งานมีเวลาดำเนินการปรับเปลี่ยน แม้จะไม่ได้มีอำนาจโดยตรงก็ตาม ที่สำคัญคือการดำเนินการเชิญผู้ให้บริการ PayPal ในประเทศไทย มาให้ข้อมูลถึงที่มาที่ไปของการออกกฎนี้ เนื่องจากกฎหมายของการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาเพื่อป้องกันการฟอกเงิน จึงทำให้ระบบการชำระเงินของผู้ให้บริการต้องทำระบบ KYC หรือ Know Your Customer คือ กระบวนการในการทําความรู้จักลูกค้า ที่สามารถระบุตัวตน และพิสูจน์ตัวตนได้อย่างถูกต้อง แต่ PayPal ออกกฎว่าต้องทำระบบ KYB หรือ Know Your Business คือการระบุตัวตนทางธุรกิจ จึงสร้างภาระให้กับประชาชน โดยไม่จำเป็น

โฆษก กมธ.การเงิน การคลังฯ กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่าหลังจากนี้จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการที่จะมีขึ้นในวันที่ 2 มี.ค.นี้ โดยจะเชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมทั้งตัวแทนของผู้ได้รับผลกระทบมาหาทางออกร่วมกันต่อไป