เมื่อวันที่ 22 ก.ค.  นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ในในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด ว่า การล็อกดาวน์ครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย ผู้ใช้แรงงานนอกระบบ และธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างรุนแรง โดยมีการประเมินว่าการล็อกดาวน์คราวนี้จะเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจวันละประมาณ 3,500-4,500 ล้านบาท ถ้าล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์จะเกิดความสูญเสียประมาณ 49,000-63,000 ล้านบาท และในกรณีที่ล็อกดาวน์ 1 เดือน จะเกิดความสูญเสียไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท แม้ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการล็อกดาวน์ก่อให้เกิดผลกระทบถ้วนหน้าตั้งแต่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ไปจนถึงธุรกิจเอสเอ็มอี ผู้ใช้แรงงานนอกระบบ แรงงานรายวัน และครัวเรือนที่มีรายได้น้อย แต่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่มีกำลังทุนที่เข้มแข็ง มีสายป่านที่ยาวพอจะประคับประคองตัวเองได้ ส่วนคนที่หาเช้ากินค่ำควรมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาอย่างถึงที่สุด

นายองอาจ กล่าวอีกว่า การเยียวยารอบนี้ภาครัฐควรเน้นมาตรการและกลไกที่ตอบสนองต่อการแก้ปัญหาได้จริง ดังนี้ 1.ต้องเน้นช่วยคนที่เดือดร้อนมากที่สุดก่อน และควรคำนึงถึงความเสมอภาค มากกว่าความเท่าเทียม 2.ต้องมีมาตรการเสริมรายได้ ลดรายจ่ายให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม 3.ต้องช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้กระทบการจ้างงานในวงกว้าง 4.ต้องใช้กลไกทางการเงินการคลังแบบยาแรง เพื่อช่วยเหลือธุรกิจไม่ให้ปิดกิจการ 5.ต้องเร่งใช้เงินกู้ 500,000 ล้านบาทให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูได้จริง ตนจึงขอให้นายกรัฐมนตรีลงมาติดตามการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนกลุ่มต่างๆ ในครั้งนี้ด้วย เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ในสถานการณ์ที่ยากลำบากอย่างมากในขณะนี้

ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 นั้น ต้องถือว่ามีเจตนารมณ์ที่ดีในการช่วยเหลือประชาชน แต่ที่ผ่านมา สถาบันทางการเงินยังไม่ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนตามมาตรการดังกล่าวอย่างเต็มที่ และประชาชนมีความลำบากมากในการทำมาหากิน เพราะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การชำระหนี้กับสถาบันการเงินย่อมได้รับผลกระทบ ดังนั้น การพักการชำระหนี้จะเป็นการช่วยเหลือประคับประคองให้ประชาชนอยู่ได้  ตนจึงขอชื่นชมธนาคารออมสินที่ประกาศช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย ให้พักหนี้แบบไม่ต้องส่งเงินงวด พักทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย นานสุด 6 เดือน ซึ่งจะเริ่มงวดแรก เดือน ก.ค.นี้  ถ้าขยายกรอบวงเงินจำนวนหนี้เพิ่มขึ้น ตนเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์กับประชาชนอีกมาก ธนาคารอื่นก็ควรดำเนินการลักษณะนี้ด้วยเช่นกัน

นายราเมศ กล่าวอีกว่า มีประชาชนร้องทุกข์เป็นจำนวนมากในเรื่องเดียวกัน คือการขอพักชำระหนี้ ผ่อนสินเชื่อต่างๆ ผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ผ่อนรถจักรยานยนต์ หรือสินเชื่ออื่นๆ ตนจึงขอให้สถาบันการเงินช่วยเหลือในช่วงสถานการณ์เช่นนี้ เพราะหลายคนปิดกิจการหรือถูกเลิกจ้าง ทำมาหากินไม่ได้ แล้วจะเอาเงินจากไหนไปผ่อนชำระ สถาบันการเงินควรพิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้วออกมาตรการช่วยประชาชนในทันที การพักการชำระหนี้ 6 เดือน โดยไม่มีเงื่อนไข และเร่งพิจารณาลูกหนี้ในแต่ละรายก็ถือว่าอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้ทันที