เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความ พร้อมด้วย น.ส.สุธิดา เนาวรุ่งโรจน์ นายจักรกฤษณ์ และน.ส.ลักษมน วิบูลย์ลักษณากุล 3 แม่ลูกเจ้าของโรงงานทำขนมเยลลี่ ได้นำหลักฐานยื่นแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ 5 คน ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานสอบสวนหรือ เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาหรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญา กระทำการหรือไม่กระทำการ อย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการมิชอบ เป็นการเพื่อจะแกล้งให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดต้องรับโทษ รับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, มาตรา 200 และมาตรา 83

สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอพร้อมหน่วยงานราชการอีกหลายหน่วย บุกเข้าช่วยเหลือแรงงานชาวเมียนมา 18 คน ภายในโรงงานทำขนมเยลลี่ ย่านลาดพร้าว-วังหิน เมื่อวันที่ 27 ม.ค.64 พร้อมทั้งกล่าวหาว่าเจ้าของโรงงานกักขังและค้ามนุษย์ ทั้งที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะแรงงานต่างด้าว 18 คน ถูกไล่ออกจากบ้านเช่าหลังเกิดสถานการณ์โควิดที่ จ.สมุทรสาคร เจ้าของโรงงานจึงให้แรงงานเข้ามาอยู่ในโรงงานดังกล่าว แต่มีความขัดแย้งในกลุ่มแรงงาน ซึ่งมีแรงงานบางคนไม่อยากทำงานและไปฟ้องนายหน้า จนมีการจัดฉากช่วยแรงงานทั้งหมด หลังจากนั้นดีเอสไอไปออกข่าวว่าเป็นการกักขังแรงงาน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สมควร และหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เคยมีการมาสอบถามเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง แต่ทางดีเอสไอไม่ได้รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่สามารถจะทำได้ ไม่ได้สอบสวนเพื่อนบ้านข้างเคียง เพื่อหาข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ต่างๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา โดยมิได้พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา พิสูจน์แต่ความผิดอย่างเดียว จากนั้นวันที่ 28 ธ.ค.64 มีการออกหมายจับเจ้าของโรงงาน แต่ระหว่างนั้นกลับไม่มีหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหาให้แก้ข้อกล่าวหา

จากนั้นวันที่ 17 ม.ค.65 มีการเข้าจับกุมผู้ต้องหา แต่เมื่อ 3 แม่ลูกเจ้าของโรงงานขนมเยลลี่ มาอยู่ต่อหน้า ก็มิได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134 วรรคสาม และวรรคสี่ โดยไม่ให้โอกาสแก้ข้อหา และแสดงพยานหลักฐานข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์แก่ 3 แม่ลูกเจ้าของโรงงานทำขนมเยลลี่ อีกทั้งมีการสอบคำให้การทั้งที่ผู้ต้องหาไม่ประสงค์จะให้การ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 134/4 (1) และยังข่มขู่ในระหว่างการสอบสวนว่า หากไม่ให้การ จะไม่ให้ประกันตัว ตามมาตรา 135

นอกจากนั้นในระหว่างสอบสวนนานกว่า 7 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าว ไม่ได้สอบสวนอย่างรวดเร็วต่อเนื่อง เป็นธรรม และมีการนำผู้ต้องหาทั้งหมดเข้าห้องขังอีก 8 ชั่วโมง โดยไม่ให้ประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวน หลังจากที่ประกันตัวแล้วก็ยังมีการหลอกล่อผู้ต้องหาว่ายังสามารถยื่นเอกสารประกอบคำให้การได้ แต่ในที่สุดก็ฟ้องคดี ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 โดยเฉพาะกรณี บริษัท แอบโซลูท แม็ก ซิมัม จำกัด ซึ่งมิได้ดำเนินกิจการใดๆ เลย จึงมิได้กระทำความผิดตามข้อกล่าวหา แต่มีเจตนากลั่นแกล้ง ฟ้องคดีให้ได้รับโทษทางอาญา

นายอนันต์ชัย กล่าวอีกว่า 3 แม่ลูกเจ้าของโรงงานทำขนมเยลลี่ จึงได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เพื่อเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ดีเอสไอซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง โดยเอาผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ มีเจตนาข่มขู่ อันมีลักษณะข่มขู่คุกคาม อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยการพูดโน้มน้าว จูงใจ เพื่อจะให้วิ่งความ รวมทั้งผู้มีอำนาจสั่งคดีโดยมิได้สอบข้อเท็จจริงให้ปรากฏตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 โดยมุ่งพิสูจน์ความผิด แต่มิได้มุ่งพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ของ 3 แม่ลูกเจ้าของโรงงานทำขนมเยลลี่ รวมถึง 2 บริษัทแต่อย่างใด