เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) รายงานภาพรวมโควิดประเทศไทย ผู้ป่วยรายใหม่ 20,420 ราย, หายป่วยวันนี้ 18,297 ราย, อยู่ระหว่างการรักษา 215,725 ราย, อาการหนัก 990 ราย ในจำนวนนี้ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 284 ราย, เสียชีวิตวันนี้ 43 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 22,976 ราย สำหรับยอดฉีดวัคซีนสะสมทั้งหมด 123,809,855 โด๊ส แบ่งเป็นเข็ม 1 จำนวน 53,578,024 ราย คิดเป็น 77% เข็ม 2 จำนวน 49,739,006 ราย คิดเป็น 71.5% และเข็ม 3 จำนวน 20,492,825 ราย คิดเป็น 29.5%

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีรายงานผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงสุดคือ กทม. 2,752 ราย นนทบุรี 1,292 ราย ชลบุรี 1,197 ราย สมุทรปราการ 1,060 ราย นครศรีธรรมราช 719 ราย ภูเก็ต 678 ราย ระยอง 593 ราย นครปฐม 592 ราย พระนครศรีอยุธยา 554 ราย นครราชสีมา 538 ราย

ขณะที่ รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์ สรุปภาพรวมผู้ติดเชื้อโควิด ระลอกโอมิครอน มีประมาณ 10% ที่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ. ส่วนผู้ติดเชื้อ 90% ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่สามารถดูแลรักษาที่บ้านได้ทั้งผ่านระบบ Home Isolation : HI และดูแลแบบผู้ป่วยนอก (OPD) โดยกลุ่มที่ไม่มีอาการ จะไม่ให้ยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ ส่วนกลุ่มอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยง ไม่มีโรคร่วม แพทย์เป็นคนพิจารณาว่าจะให้ฟาวิพิราเวียร์หรือไม่ ส่วนโอกาสที่ กลุ่มอาการสีเขียวอาการจะรุนแรงไปอยู่ระดับสีเหลืองหรือสีแดงนั้นน้อยมากๆ

รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิกรมการแพทย์

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี ชี้แจงวาหากผู้ป่วยโควิด ไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ส่วนมากอาการจะค่อยๆหายเอง ไม่ได้แย่ลง ซึ่งยาทุกตัวสามารถเกิดผลข้างเคียงได้ เช่นยาฟาวิพิราเวียร์ อาจเกิดอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ตาเป็นสีฟ้า และไม่แนะนำใช้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะตั้งครรภ์อ่อนๆ เพราะพบว่ามีผลต่อตัวอ่อนในสัตว์ทดลอง อีกทั้ง ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์วันละ 2 ล้านเม็ดเดือนละ 60 ล้านเม็ด นับว่าเป็นการใช้ยาต้านไวรัสในปริมาณมาก

“จากการใช้ยาต้านไวรัสในปริมาณที่มากนี้ กลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกำลังกังวลในประเด็นเรื่องของเชื้อดื้อยา ซึ่งตามทฤษฎีย่อมเกิดขึ้นได้ ถ้าเชื้อสัมผัสกับยาบ่อยๆจะเกิดการดื้อยาและถ้ามีการดื้อยาเกิดขึ้นจริงๆ ให้กินก็หมือนกินแป้งไม่มีประโยชน์ดังนั้นแนวทางรักษาใหม่จึงกำหนดให้ใช้ยาตามอาการและใช้อย่างสมเหตุสมผล หากไม่มีอาการก็ไม่จำเป็นต้องได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ และขอย้ำว่าการปรับแนวทางการรักษาเป็นไปตามอาการผู้ป่วยและสถานการณ์ไม่ได้เป็นเพราะประเทศไทยขาดยาฟาวิพิราเวียร์แต่อย่างใด” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว