เมื่อวันที่ 2 มี.ค. นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ. … และร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ. … ว่า ผลจากการที่นายสาธิตได้คะแนนเสียงชนะนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในการเลือกประธาน กมธ.วิสามัญดังกล่าวนั้น น่าจะเป็นสัญญาณทางการเมือง ที่ส่งถึงพ ล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ทั้งที่ก่อนการเข้าประชุม พล.อ.ประวิตร ยืนยันที่จะให้นายไพบูลย์ เป็นประธาน กมธ.วิสามัญชุดนี้
แต่ด้วยการเคลื่อนไหวในลักษณะอารยะขัดขืนของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้าน จนทำให้คะแนนของนายสาธิต ชนะนายไพบูลย์แบบเฉียดฉิว ซึ่งเป็นการฉีกหน้า พล.อ.ประวิตร อย่างปฏิเสธไม่ได้ นอกจากนี้เป็นการบ่งบอกถึงความไม่เห็นด้วยที่พรรคพลังประชารัฐลุแก่อำนาจ จะส่งใครมาเป็นประธาน กมธ.ก็ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายไพบูลย์ ที่เปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้านของ พล.อ.ประวิตร และพรรคพลังประชารัฐ จะเป็นหมากตัวหนึ่งที่ถูกส่งมาเดินเกมในคณะกรรมการชุดต่างๆ บ่อยครั้ง
“ผมเชื่อว่าผลการเลือกตั้งประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญครั้งนี้ จะเป็นบทเรียนให้กับ พล.อ.ประวิตร และพรรคพลังประชารัฐ ต้องนำไปทบทวนวิธีการทำงาน ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ ว่าการจะทำอะไร ควรแคร์ความรู้สึกของสังคม ควรส่งบุคคลที่ทุกฝ่ายยอมรับ เพื่อเข้ามาทำงานทางการเมืองร่วมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ส่งใครมาก็ได้ ที่ตัวเองพอใจให้เดินเกมการเมืองเพื่อประโยชน์ของตัวเองฝ่ายเดียว” นายเทพไท กล่าว
ทางด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ขอบคุณคณะกรรมาธิการฯ ทุกคนที่สนับสนุนให้นายสาธิตได้ทำหน้าที่ประธาน กมธ.ดังกล่าว เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของนายสาธิตที่มีประสบการณ์ด้านการเมือง เป็น ส.ส.มาแล้ว 4 สมัย และเป็นนักกฎหมาย ถือเป็นนักการเมืองที่ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน ตนจึงเชื่อว่านายสาธิตจะทำหน้าที่ในฐานะประธาน กมธ.วิสามัญนี้ด้วยความเป็นกลางและยึดประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศเป็นที่ตั้งอย่างแน่นอน ส่วน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการแปรญัตติในส่วนใดนั้น พรรคได้จัดเตรียมข้อมูลประกอบไว้เพื่อเป็นฐานข้อมูลในเรื่องร่างกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งต้องแปรญัตติภายใน 15 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่รัฐสภารับหลักการ