เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค สรุปภาพรวมสถานการณ์โควิดโอมิครอนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-วันที่ 3 มี.ค. ว่าการติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ค่าเฉลี่ย 14 วัน 2.2 หมื่นรายวันนี้ PCR พบ 2.3 หมื่นรายด้วยตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ทำให้ป่วยอาการรุนแรงเพิ่มขึ้น ปอดอักเสบมีคนต้องเข้ารักษาใน รพ.2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงประมาณ 1.5 เท่า เทียบกับเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ส่วนคนที่ใส่ท่อช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จากเดิมอยู่ใน รพ.ประมาณ 184 ราย เมื่อวันที่ 3 มี.ค. ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 337 ราย เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตที่ขยับเพิ่มขึ้น เพราะถึงแม้อัตราการป่วยหนักจนเสียชีวิตจะน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่เนื่องจากยังมีผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนจำนวนหนึ่ง ทำให้มีการเสียชีวิตเพิ่ม
นพ.โสภณ เปิดเผยว่าเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลตั้งแต่ 1 ม.ค.-28 ก.พ. ในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป พบ 2 เดือนแรกเสียชีวิต 928 ราย ไม่ได้ฉีดวัคซีน 557 รายคิดเป็น 60 % ได้รับวัคซีนแค่ 1 เข็ม 77 รายคิดเป็น 8% ได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว 271 ราย คิดเป็น 29% และ 3 เข็ม 23 รายคิดเป็น 2% ยังเหลือยังไม่ได้ฉีดกว่า 2.2 ล้านคน ดังนั้นการเร่งฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุซึ่งเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเสียชีวิตมากจะลดความเสี่ยงได้มากโดยหากฉีด 2 เข็มโอกาสเสียชีวิตลดลง 6 เท่า หากฉีด 3 เข็ม โอกาสเสียชีวิตลดลง 41 เท่า เทียบกับคนสูงอายุที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้นหากได้ 2 เข็ม เกิน 3 เดือนแล้ว ขอให้ไปรับเข็ม 3 ช่วง 1 เดือนเศษนี้สำคัญมากก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์ สธ.ไม่อยากให้มีผู้สูงอายุเสียชีวิต จากการติดเชื้อจากลูกหลานที่กลับมาเยี่ยม ขณะนี้ทุกหน่วยงานกำลังค้นหาและขึ้นทะเบียนเพื่อสร้างแรงจูงใจในการรับวัคซีน
“จากฉากทัศน์ที่มีการแถลงไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. สถานการณ์ขณะนี้น่าห่วงจริงๆ โดยสถานการณ์จริงสำหรับผู้ป่วยปอดอักเสบต้องใส่ท่อช่วยหายใจ กำลังขยับเพิ่มขึ้น ซึ่งดูจากฉากทัศน์แล้วมีโอกาสที่ไทยจะขึ้นไปอยู่ในฉากทัศน์สูงสุดได้ ดังนั้นทุกมาตรการป้องกันการติดเชื้อ การรักษารวดเร็ว มีประสิทธิภาพ การฉีดวัคซีนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อลดโอกาสไม่ให้ผู้ป่วยปอดอักเสบใส่ท่อช่วยหายใจ ไม่เกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข โดยคาดว่าช่วงพีคน่าจะอยู่ที่ต้นเดือน พ.ค.” นพ.โสภณ กล่าวและว่า ขณะนี้อยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มในแต่ละวัน คาดว่าสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน เม.ย.หรือประมาณ 19 เม.ย.ติดเชื้อประมาณ 50,000 กว่าราย หากไม่คงมาตรการเข้มงวดจำนวนติดเชื้อจะเพิ่ม 2 เท่า ส่งผลถึงผู้ป่วยปอดอักเสบ อาการรุนแรงในอีก 2-3 สัปดาห์ หลังจากนั้นเดือน มิ.ย.จะค่อยๆ ลดลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเอกสารประกอบการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันที่ 28 ก.พ. ได้จำลองฉากทัศน์ หรือคาดการณ์การติดเชื้อในประเทศไทย 2565 โดยมีคาดว่าในกรณีเลวร้ายที่สุดจะมีผู้ติดเชื้อสูงสุดราว ๆ วันที่ 19 เม.ย. เกิน 100,000 แสนราย ปอดอักเสบเกือบ 6,000 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ เกิน 1,600 ราย และเสียชีวิตเกิน 250 ราย.