สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ว่านายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) แถลงเมื่อวันศุกร์ เกี่ยวกับการที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เดินหน้าเรียกร้องให้นาโตประกาศ “เขตห้ามบิน” ว่านาโตเป็นสหภาพทางทหาร “ที่ต้องคุ้มครองสมาชิก” ซึ่งอยู่รอบยูเครน ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ที่อาจลุกลามข้ามพรมแดน เนื่องจากหากเป็นเช่นนั้นจริง สถานการณ์จะยิ่งเลวร้าย

อย่างไรก็ตาม นาโต “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งครั้งนี้” จึงไม่มีมติต้องประกาศเขตห้ามบินเหนือยูเครน ด้านนายแอนโทนี บลิงเคน รมว.การต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า นาโตพร้อม “ปกป้องอธิปไตยทุกตารางนิ้วของสมาชิก” ในส่วนยูเครนจะยังคงมีการมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และความสนับสนุนทางทหารในรูปแบบอื่น อาทิ การส่งมอบอาวุธ


แม้แถลงการณ์ร่วมของนาโตหลังจากนั้น มีการประณามปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน และเรียกร้องการยุติความรุนแรง แต่เซเลนสกีกล่าวถึงการประชุมครั้งนี้ “เป็นการแสดงความอ่อนแอ” ของนาโต ที่เท่ากับเป็นการ “ไฟเขียว” ให้รัสเซียเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารในยูเครนต่อไป


ขณะที่ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน พล.อ.ลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหมของสหรัฐ ยืนยันไม่มีแผนการประกาศเขตห้ามบินเหนือยูเครน เนื่องจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีจุดยืนชัดเจนมาตลอด ว่าไม่ประสงค์สู้รบกับรัสเซียบนแผ่นดินยูเครน

หากสหรัฐเป็นผู้ประกาศเขตห้ามบิน เท่ากับว่า กองทัพสหรัฐ “ต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง” กับอากาศยานทางทหารของรัสเซีย หรือพูดให้ง่ายที่สุด คือ เขตห้ามบินจะเป็นการนำสหรัฐไปเผชิญหน้าทางทหารโดยตรงกับรัสเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลวอชิงตันไม่ต้องการ

อนึ่ง การกำหนดเขตห้ามบินด้วยเหตุผลทางยุทธวิธี “ให้มีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ” ต้องประกาศโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) เท่านั้น ทว่าในยามสู้รบหลายต่อหลายครั้ง บรรดาประเทศมหาอำนาจมักกำหนดเขตห้ามบินกันเอง.

เครดิตภาพ : REUTERS