เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานมีการติดตามดูแลอำนวยความสะดวกแก่แรงงานไทยที่ประสบปัญหาความไม่สงบจากภัยสงครามที่ประเทศยูเครน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้การช่วยเหลือกลับประเทศไทย พร้อมให้การเยียวยาแรงานที่เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทย ก่อนสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุน เนื่องจากภัยสงคราม ตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยกิจการที่จะใช้จ่ายเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศ โดยในวันนี้ (5 มี.ค.) มีแรงงานไทยเดินทางกลับประเทศไทย 2 ชุด ชุดแรก16 คน เป็นสมาชิกกองทุนฯ ทั้งหมด เดินทางโดยเครื่องบินสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG 971 ออกจากกรุงบูคาเรสต์ มาถึงประเทศไทยเวลา 06.25 น. ส่วนชุดที่สอง จำนวน 45 คน เดินทาง เครื่องบินสายการบินเอมิเรตส์ เที่ยวบินที่ EK 384 ออกจากกรุงวอร์ซอ มาถึงประเทศไทย เวลา 12.05 น. ในจำนวนนี้เป็นสมาชิกกองทุนฯ 38 คน  

นายสุชาติ กล่าวว่า แรงงานที่กลับมาถึงประเทศไทยทั้งหมดจะเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่สถาบันบำราศนราดูร ตามมาตรการควบคุมป้องกันโรค และจะมีเจ้าหน้าที่กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ ฝ่ายกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศรับหน้าที่ชี้แจงเรื่องสิทธิประโยชน์จากกองทุนฯ ให้แก่แรงงานไทยทราบ พร้อมมอบเงินสงเคราะห์ช่วยเหลือแก่แรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนฯ รายละ 15,000 บาท โดยตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา มีแรงงานทยอยเดินทางกลับประเทศไทย 5 ชุด รวม 197 คน เป็นสมาชิกกองทุนฯ 154 คน คิดเป็นยอดเงินสงเคราะห์จากกองทุนฯ ทั้งสิ้น 2,310,000 บาท สำหรับแรงงานไทยที่เดินทางมาในวันนี้เป็นแรงงานชุดที่ 4 และ 5 รวม 61 คน เป็นสมาชิกกองทุนฯ 54 คน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ตนขอฝากถึงแรงงานไทยทุกคนที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ เห็นถึงความสำคัญในการส่งเงินเข้ากองทุนฯ ก่อนการเดินทางออกไปทำงานในต่างประเทศ เพราะหากเกิดเหตุไม่คาดคิด หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ แรงงานไทยจะได้รับความคุ้มครอง และสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายกำหนด  สำหรับกรณีนางสาวจิราพัชร ยิ่งแก้ว แรงงานไทยชาวนครราชสีมา อำเภอพิมาย ที่ไม่ได้รับเงินเยียวยา 15,000 บาท นั้นจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ได้สมัครเป็นสมาชิกฯกองทุน โดยสมัครใจส่งเงินเข้ากองทุน จำนวน 500 บาท และได้เดินทางออกจากประเทศไทย วันที่ 17 มี.ค. 2559  มีระยะเวลาการทำงานตามสัญญาจ้าง เป็นเวลา 9 เดือน หากนับตามวันครบกำหนดสัญญาจ้าง (16 ธ.ค. 2559) ต่อไปอีก 5 ปี แรงงานท่านนี้จะอยู่ในความคุ้มครองของกองทุนฯ ถึงวันที่ 16 ธ.ค. 2564 ซึ่งขณะนี้สิ้นสุดระยะเวลาไปแล้ว ทำให้ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว

ทั้งนี้สมาชิกกองทุนจะมีระยะเวลาการคุ้มครอง 5 ปี โดยสิทธิประโยชน์มีดังนี้ 1. กรณีถูกทอดทิ้งในต่างประเทศ สงเคราะห์เป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นให้สมาชิกได้เดินทางกลับประเทศไทยตามที่จ่ายจริง ได้แก่ ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็นโดยให้จ่ายตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท 2. กรณีประสบอันตรายก่อนไปทำงานหรือขณะทำงานในต่างประเทศ สงเคราะห์เป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท 3. กรณีถูกเลิกจ้างจากสาเหตุประสบอันตราย สงเคราะห์คนละ 15,000 บาท 4. กรณีประสบอันตรายจนพิการสงเคราะห์คนละ 15,000 บาท ทุพพลภาพ สงเคราะห์คนละ 30,000 บาท 5. ประสบปัญหาในต่างประเทศ สงเคราะห์เป็นค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่ารักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น ตามที่จ่ายจริงไม่เกินคนละ 30,000 บาท

6. ถูกส่งกลับเนื่องจากเป็นโรคต้องห้าม กรณีทำงานไม่ถึงหกเดือน สงเคราะห์คนละ 25,000 บาท ทำงานมากกว่าหกเดือน สงเคราะห์ 15,000 บาท 7. กรณีประสบปัญหาจากภัยสงคราม ภัยธรรมชาติ หรือโรคระบาด สงเคราะห์คนละ 15,000 บาท 8. กรณีเสียชีวิตก่อนเดินทางหรือขณะกลับมาพักที่ประเทศไทย สงเคราะห์จำนวน 30,000 บาท กรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ สงเคราะห์จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท 9. สมาชิกกองทุนถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดซึ่งมิใช่เกิดจากการกระทำโดยเจตนาในต่างประเทศ หรือเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำงาน ให้จ่ายเป็นค่าทนายเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท.