สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน กล่าวเมื่อวันเสาร์ ว่า การประกาศเขตห้ามบินเหนือยูเครน “โดยประเทศใดก็ตาม” ถือเป็นการแสดงเจตนา “ต้องการมีส่วนร่วม” กับปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน และ “การแทรกแซงดังกล่าว” ถือเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อบุคลากรทางทหารของรัสเซีย


ถ้อยแถลงดังกล่าวของผู้นำรัสเซีย เกิดขึ้นหลัง นายเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ( นาโต ) ประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า นาโต ไม่มีนโยบายเป็นผู้ประกาศเขตห้ามบินเหนือยูเครน เนื่องจากนาโต “ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งครั้งนี้” แต่ยืนยันจะยังคงมอบความสนับสนุนด้านอื่นต่อไป


เช่นเดียวกับสหรัฐ ซึ่งเป็นสมาชิกหลักของนาโต โดย พล.อ.ลอยด์ ออสติน รมว.กลาโหม กล่าวว่า สหรัฐไม่มีแผนการส่งทหารเข้าไปในยูเครน หากเป็นผู้ประกาศเขตห้ามบิน เท่ากับเป็นการนำตัวเองเข้าสู่ “การเผชิญหน้าโดยตรง” กับทหารรัสเซีย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลวอชิงตันไม่ต้องการ


ท่าทีของนาโตในเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจอย่างหนัก ให้กับประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ซึ่งตำหนินาโต “อ่อนแอ” และเดินหน้าเรียกร้องต่อสหรัฐ ว่าในเมื่อรัฐบาลวอชิงตันไม่อยากประกาศเขตห้ามบินเหนือยูเครน ขอให้ส่งเครื่องบินรบมาให้แทน ด้านทำเนียบขาวยังไม่มีปฏิกิริยาอย่างเป็นทางการ


ทั้งนี้ หน่วยงานเดียวที่มีอำนาจตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในการประกาศเขตห้ามบิน ซึ่งหมายถึง การห้ามอากาศยานที่ไม่ได้รับอนุญาต เดินทางผ่านน่านฟ้าบริเวณนั้น คือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ).

เครดิตภาพ : REUTERS