สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ว่า แมวน้ำซึ่งมีอุปกรณ์คล้ายตัวรับส่งสัญญาณ พร้อมเสาอากาศอยู่บนหัว อาจดูผิดปกติและแปลกตา แต่เจ้าแมวน้ำสายพันธุ์ Weddell จำนวน 8 ตัวที่มีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่บนหัว กำลังช่วยนักวิจัยชาวญี่ปุ่นสำรวจน่านน้ำ ใต้แผ่นน้ำแข็งหนาในทวีปแอนตาร์กติกา

Reuters


งานวิจัยดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างเดือน มี.ค-พ.ย. 2560 โดยแมวน้ำเหล่านี้ถูกติดตั้งเครื่องเซ็นเซอร์วัดค่าการนำไฟฟ้า อุณหภูมิ และวัดระดับความลึกไว้บนหัว เพื่อช่วยให้นักวิทยาสาตร์สามารถรวบรวมข้อมูล เพื่อการสังเกตการณ์ เช่น อุณหภูมิของน้ำ และระดับเกลือ ในบริเวณที่มีอันตรายสูง


นายโนบุโอะ โคคุบุน หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า การวิจัยนี้ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามพฤติกรรม และรูปแบบนิเวศวิทยาของสัตว์ในทวีปแอนตาร์กติกาได้ โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน ที่ทีมนักวิจัยสามารถเดินทางไปยังที่หมาย โดยใช้เรือตัดน้ำแข็งเพื่อทำการลงพื้นที่จริงและเก็บรวบรวมข้อมูล แต่ในช่วงฤดหนาวพวกเขาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ จึงต้องอาศัยทีมผู้ช่วยพิเศษที่อาศัยอยู่ในพื้นที่แอนตาร์กติกาอย่างเจ้าแมวน้ำเหล่านี้

แมวน้ำพร้อมอุปกรณ์รับส่งสัญญาณบนหัว


ข้อมูลที่รวบรวมอย่างสมบูรณ์จากแมวน้ำเจ็ดตัว แสดงให้เห็นว่า หนึ่งในนั้นเดินทางไกลถึง 633 กิโลเมตร จากชายฝั่งของสถานีโชวา (Showa) ของญี่ปุ่นที่ตั้งอยู่ในทวีปแอนตาร์กติกา ในขณะที่อีกตัวหนึ่งได้ดำลงไปในน้ำที่ระดับความลึก 700 เมตร


โคคุบุน กล่าวอีกด้วยว่า นักวิจัยได้เรียนรู้ว่าน้ำทะลอุ่นจากส่วนบนในทะเลเปิด ได้ไหลไปทวีปแอนตาร์กติกาตั้งแต่เดือน มี.ค. จนถึงช่วงฤดูหนาวในปีนั้น ซึ่งน้ำที่ไหลอยู่ใต้น้ำแข็งนั้น จะพัดพาสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ เช่น ตัวเคยแอนตาร์กติกา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของแมวน้ำ

โครงการวิจัยนี้มีเป้าหมายเพื่อตรวจสอบผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเลแอนตาร์กติกา อีกทั้ง ทีมวิจัยหวังว่าจะสร้างอุปกรณ์ขนาดเล็กที่จะพอดีกับสัตว์ขั้วโลกอื่นได้อีก เช่น เพนกวิน เป็นต้น


สำหรับข้อดีของเพนกวิน คือ พวกมันจะกลับมาสถานที่เดิม ทำให้นักวิจัยสามารถเก็บข้อมูลจากพวกมันได้ทันที นอกจากนี้ยังสามารถใช้อุปกรณ์กับนกเพนกวินจำนวนมาก เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่เป็นวงกว้าง.

เครดิตภาพ : REUTERS