เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแถลงเรื่องเหตุท่อน้ำประปาแตกหักเหนือเพดานชั้น 8 อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ว่าบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) จะเป็นผู้รับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดว่า เหตุใด สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจึงไม่แถลงข้อเท็จจริงทั้งหมดว่าเกิดความเสียหายทั้งหมดอย่างไรบ้าง เพื่อจะให้ประชาชนได้รับรู้ร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ตนได้รับคลิปวีดีโอบันทึกภาพน้ำประปารั่วท่วมในอาคารสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภาพมวลน้ำไหลทะลักลงตามช่องลิฟต์ จากชั้น 8 ลงถึงชั้นบี 1 และมีน้ำไหลเป็นม่านน้ำตกที่หน้าลิฟต์ทั้ง 3 ตัว บริเวณชั้น 6 เจิ่งนองเต็มทางเดินเข้าไปในห้องทำงานของ ส.ส.จนพรมเปียก อีกทั้งทำให้ลิฟต์ทั้ง 3 ตัวได้รับความเสียหาย ใช้การไม่ได้ด้วย รวมถึงฝ้าเพดานพังเป็นแถบๆ

งามหน้าสภาหมื่นล้านท่อแตก! มวลน้ำไหลนองท่วมตาตุ่ม-ลิฟต์เสียหาย

“เอกสารหนังสือหายากในห้องสมาชิกวุฒิสภาเสียหายเป็นจำนวนมาก บริษัท ซิโน-ไทยฯ จะรับผิดชอบอย่างไร ทำไมไม่มีการแถลงรับผิดชอบต่อสาธารณะ ทั้งที่เป็นบริษัทมหาชน ส่วนสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรต้องตรวจสอบว่าวัสดุในโครงการก่อสร้างสภาใหม่ ราคา 12,280 ล้านบาท ที่ติดตั้งนั้น สร้างตรงตามที่กำหนดในสัญญาหรือไม่ เช่น ดินที่ถมสร้างสภา ตรงตามสเปกหรือไม่ หรือเอาขยะ ยางรถยนต์มาถมไว้ข้างล่าง เสาไฟฟ้าเป็นเสาหล่ออัลลอยด์ผสมทองแดงจริงหรือไม่ หรือเอาเหล็กแผ่นมาม้วนเป็นเสาแล้วอ๊อกเหล็กเชื่อมกัน หินทราโวทีนสีเหลือง หนา 25 มม. ตรงตามสเปกหรือไม่ หรือลดความหนาเหลือแค่ 20 มม. ทั้งโครงการไม้เป็นไม้ตะเคียนทองทั้งหมดตามสเปกหรือไม่ หรือกลายเป็นไม้พะยอม ทำไมผู้บริหารของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ไม่เร่งตรวจสอบ” นายวัชระ กล่าว

นายวัชระ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ สัญญาก่อสร้างเดิมกำหนดเวลา 900 วัน แต่ได้มีการขยายสัญญา 4 ครั้ง ทำให้สิ้นสุดสัญญาในวันที่ 31 ธ.ค.63 ซึ่งหากนับถึงวันนี้ 6 มี.ค.65 ล่วงเลยสัญญา 430 วัน แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ หากคิดเป็นค่าปรับวันละ 12.28 ล้านบาท รวมเงินค่าปรับประมาณ 5,280 ล้านบาท ตนขอถามว่าสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ได้ส่งหนังสือเรียกค่าปรับกับบริษัทผู้รับเหมาแล้วหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เพื่อรักษาประโยชน์ของทางราชการ และเพื่อความปลอดภัยของผู้เข้าไปใช้อาคารรัฐสภา ตนขอเสนอว่าควรตั้งผู้ว่าการประปานครหลวง อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และอธิบดีกรมประมงเข้าไปเป็นที่ปรึกษาสภาฯ เพื่อป้องกันเหตุฝนตกน้ำรั่วทุกครั้งหรือท่อประปาแตกอีก เพราะเหตุที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอนที่สุด สภาใช้เป็นสถานที่รับแขกบ้านแขกเมือง แต่สร้างแล้วสุดห่วยแบบนี้ เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติของไทยไปทั่วโลก ซึ่งถือเป็นความเสียหายที่ประมาณค่ามิได้