จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่กฎกระทรวงสาธารณสุข กำหนดวัตถุอื่นเป็นเครื่องสำอาง พ.ศ.2564 ซึ่งกำหนดให้ ให้…ผ้าอนามัยชนิดสอดที่ใช้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือน เป็นเครื่องสำอาง ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าการกำหนดให้เป็นเครื่องสำอาง ทั้งที่ผ้าอนามัยชนิดนี้ถือเป็นของใช้จำเป็นด้วย จะทำให้ประชาชนต้องมีภาระเสียภาษีเพิ่ม…นั้น

ล่าสุด  น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว ชี้แจงเรื่องนี้ว่า “…ขอยืนยันว่าผ้าอนามัยเป็นสินค้าควบคุม และไม่มีการขึ้นภาษี เนื่องจากปัจจุบันมีผ้าอนามัย 2 ชนิด คือ ผ้าอนามัยใช้ภายนอกและชนิดสอด ทั้ง 2 ชนิดถูกจัดเป็นเครื่องสำอาง ตั้งแต่ปี 2528 เพราะเข้ากับนิยามเครื่องสำอาง คือวัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ หรือกระทำด้วยวิธีอื่นใดต่อส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อความสะอาด ฯลฯ   ต่อมา ปี 2558 มีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องสำอาง โดยมีการแก้ไขนิยามของคำว่า “เครื่องสำอาง” ทำให้ผ้าอนามัยชนิดสอดหลุดจากคำนิยามของ”เครื่องสำอาง” แต่ผ้าอนามัยใช้ภายนอกยังเป็นเครื่องสำอาง จึงเป็นเหตุผลให้ต้องออกกฎกระทรวงกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง

น.ส.ไตรศุลี ระบุว่า  นอกจากนี้ ผ้าอนามัยเป็นหนึ่งในรายการสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ ไม่มีการจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยในอัตราภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย 40 เปอร์เซ็นต์  ภาษีผ้าอนามัยจึงจะถูกจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ตามราคาของสินค้าเหมือนสินค้าชนิดอื่นๆ