ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ว่า การตรวจ ATK ในผู้สัมผัสโรค หากผลลบ ไม่มีอาการ ให้กักตัวเอง ตรวจ ATK ซ้ำทุก 3 วันแต่หากผลเป็นบวก แต่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย ไม่มีความเสี่ยงอาการรุนแรง ให้แยกกักตัวที่บ้าน (home isolation) หรือเข้ารับการแยกกักในชุมชน (community isolation) หรือเข้าระบบรักษาแบบผู้ป่วยนอก (OPD)

สำหรับคนที่มีอาการหรือความเสี่ยงอาการรุนแรง จะตรวจสารพันธุกรรม เพื่อส่งรักษาต่อใน รพ. ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องตรวจยืนยันด้วย RT-PCR เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอนไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1 หรือ BA.2 ความรุนแรงไม่มาก ดังนั้นต้องถามตัวเองว่า ATK บวกแล้วเรามีความเสี่ยงหรือไม่ เช่น น้ำหนักเยอะ อ้วน เบาหวาน ความดัน ไตวายเรื้อรังระดับ 4 หรือโรคประจำตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะโรคปอด ถ้ามีความเสี่ยงแล้วผลเป็นบวก ควรพบแพทย์ให้ประเมินอาการว่าตรวจซ้ำ RT-PCR หรือไม่ ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปตรวจซ้ำทุกราย และไม่แนะนำใช้ RT-PCR ไปตรวจเชิงรุกว่าใครติดเชื้อ เพราะต้องใช้พลังในการตรวจและค่าใช้จ่ายสูง ทุกวันนี้เราตรวจไป 20 กว่าล้านเทสต์ เฉลี่ย 2,000 บาทต่อชุด รวมเป็นเงินหมื่นล้านบาท

เมื่อถามถึงกรณีมีรายงานผู้ติดเชื้อเสียชีวิตมากขึ้น ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขบอกว่าสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้รุนแรง นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เป็นตามหลักคณิตศาสตร์ ที่เมื่อพบจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิดเยอะขึ้น และสมมุติเมื่อมีการเปรียบสัดส่วนของผู้ติดเชื้อที่ตรวจ RT-PCR 22,000 คน ตรวจ ATK 10,000 คนรวม เป็น 32,000 คน หากเสียชีวิต 50 คน คิดเป็นสัดส่วน 2 ใน 1,000 คน หรือไม่ถึง 1% ในขณะที่การติดเชื้อในอดีต ไทยพบผู้ติดเชื้อประมาณ 20,000 ราย แต่เสียชีวิตวันละ 200-300 ราย ถือว่ามากกว่ามาก ดังนั้นยืนยันว่า การติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรง แต่เมื่อติดเชื้อมาก จะเห็นตัวเลขการเสียชีวิตมากขึ้น ซึ่งในกลุ่มที่เสียชีวิตนั้นเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ยังได้รับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม มีโรคประจำตัว ทั้งมะเร็ง ตับ และติดเตียง ดังนั้น หากครบกำหนดรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ขอให้รีบมารับ แม้วัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% แต่ลดความรุนแรงและการเสียชีวิตได้.