เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบการจัดเตรียมแผนการให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น เตรียมความพร้อมสถานพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ต่าง ๆ รองรับ โดยอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับที่สากลยอมรับ คือ เสียชีวิต 1 ต่อ 1 พันราย ซึ่งปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของไทยอยู่ที่ไม่ถึง 1 ต่อ 1 พันราย นอกจากนี้ เห็นชอบเรื่องการรณรงค์เร่งฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 เพราะยังเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อและเสียชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุวันนี้ยังมีกว่า 2 ล้านคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ดังนั้นได้มอบ อสม. ไปทำความเข้าใจให้ทราบว่า ถึงไม่ได้ออกจากบ้านไปไหน แต่ยังมีความเสี่ยงจากการใกล้ชิดสมาชิกที่ออกไปนอกบ้าน ถือว่ายังอยู่ในห่วงโซ่ของการติดเชื้อ ทั้งนี้ ในส่วนของเทศกาลสงกรานต์ ไม่ได้ห้ามเดินทาง แต่ขอให้ปฏิบัติตัวตามมาตรการป้องกันโรคขั้นสูงสุด ส่วนเรื่องประกาศยูเซ็ปพลัสนั้น จะเริ่มวันที่ 16 มี.ค.นี้ คนที่อาการสีเขียวไปรักษาฟรีที่ รพ. ตามสิทธิ ซึ่ง รพ.รัฐไม่ได้รับแอดมิท หากอาการสีเขียว แต่ไป รพ.เอกชนต้องจ่ายเงินเอง ส่วนผู้ป่วยอาการสีเหลือง และสีแดง ยังเข้าได้ทุก รพ. ฟรี   

เมื่อถามว่า หากโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้วจะมีการพิจารณาเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็เป็นไปตามขั้นตอน อย่ากังวลกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะไม่ได้เอามาปราบจลาจล หรือการก่อความรุนแรงอะไร ไม่เกี่ยวกับการสู้รบ ดังนั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ก่อปัญหาในวิถีชีวิตของสุจริตชน แต่ตรงกันข้าม กลับช่วยให้เกิดการบูรณาการทุกหน่วยงานให้สามารถทำงานได้ตามกฎหมาย เพราะการควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถไปสั่งการได้ทุกหน่วยงาน อย่างไรก็ตาม พอโควิดเป็นโรคประจำถิ่นแล้วทุกอย่างก็อยู่ภายใต้มือหมอ ก็จะมีการพิจารณาเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

“ที่ผ่านมาท่านนายกฯ ไม่ได้ต้องการ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่กระทรวงสาธารณสุขด้วยซ้ำที่ขอให้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะต้องบริหารจัดการตามแนวชายแดน ต้องขอความร่วมมือฝ่ายความมั่นคง เพราะ สธ. สั่งการข้ามหน่วยงานไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่าไม่ให้ความร่วมมือนะ แต่เพื่อทำให้การทำงานเป็นไปตามกฎหมาย” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการทำให้เป็นโรคประจำถิ่นมีการวางแผน 4 เดือน โดยเดือน มี.ค.-เม.ย. เป็นการติดเชื้อขาขึ้น ซึ่งจะทำให้เป็นขาขึ้นแนวระนาบ จากนั้นจะค่อย ๆ ลดลงในเดือน พ.ค.-มิ.ย. ซึ่งประมาณวันที่ 30 มิ.ย. ทำให้การติดเชื้อลดลงระดับเหลือประมาณ 1-2 พันราย และวันที่ 1 ก.ค. เป็นการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งจากนี้จะมีการปรับแก้กฎหมายประมาณ 9 ฉบับ และมีการตั้งคณะอนุกรรมการควบคุมป้องกันโรค คณะอนุกรรมการรักษา อนุกรรมการด้านกฎหมายและสังคม เป็นต้น .