เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 10 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.แถลงภาพรวมสถานการณ์โควิดประเทศไทย ผู้ป่วยรายใหม่ 22,984 ราย แบ่งเป็นโดยเป็นผู้ป่วยในประเทศ 22,885 ราย ผู้ป่วยรายใหม่ตรวจพบระบบเฝ้าระวังและบริการ 22,722 ราย จากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน 163 ราย จากเรือนจำ 52 ราย และผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 47 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,111,857 รายรักษาหายป่วยเพิ่ม 24,161 ราย รวมรักษาหายป่วยสะสม 2,868,011 ราย ผู้ป่วยรักษาอยู่ 220,334 ราย พบผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการหนัก 1,238 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 420 ราย ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 74 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 23,512 ราย

พญ.สุมนี กล่าวอีกว่า ผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจส่วนใหญ่ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบและจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆโดยก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณหลักร้อย แต่ขณะนี้ขึ้นมาเป็นหลักพัน ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดยที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขและที่ประชุม ศปก.ศบค.ได้ตั้งเป้าการฉีดวัคซีนให้กลุ่ม 608 ก่อนเทศกาลสงกรานต์ครอบคลุมอย่างน้อย 70% จึงกำหนดสัปดาห์การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในวันที่ 21-31 มี.ค.2565 โดยผู้ที่ได้รับวัคซีน 2 เข็มจะลดอัตราการเสียชีวิตได้ 6 เท่าของผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน และถ้าฉีด 3 เข็มเป็นเข็มกระตุ้นจะลดการเสียชีวิต 7 เท่าของผู้ที่ไม่ได้รับการฉีด ดังนั้นการฉีดวัคซีนจะช่วยลดการเสียชีวิตได้อย่างมาก ดังนั้นขอเชิญปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า และอา ที่อายุเกิน 60 ปี มารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด เพื่อสงกรานต์นี้จะได้กลับบ้านสบายใจ

นอกจากนี้พญ.สุมนี แจ้งผลประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบมาตรการรองรับการเปลี่ยนผ่านโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น และมีการพูดคุยถึงการแบ่งระยะเวลาการดำเนินการที่จะเป็นโรคประจำถิ่นทั้ง 4 ระยะประกอบด้วย (1) ระยะขาขึ้น หมายถึงการที่มีจำนวนของผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นโดยจะต้องมีการควบคุม เพื่อลดการระบาดให้ได้มากที่สุด (2) ระยะคงที่ หมายถึง ระยะที่ผู้ติดเชื้อมีจำนวนคงที่ และไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นไปกว่าเดิม (3) ระยะที่มีการลดลงของผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องและ (4) ระยะที่ออกจากการเป็นโรคระบาดเข้าสู่ระยะการเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นต้องพิจารณาจากปัจจัยการได้รับวัคซีนและอัตราการครองเตียง อัตราการเสียชีวิตรวมถึงการจัดแผนรองรับในด้านต่างๆต้องมีความพร้อม.