เมื่อวันที่ 14 มี.ค. นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์อัพเดตเกี่ยวกับสถานการณ์ Long COVID โดย คุณหมอระบุว่า “Update Long COVID Lopez-Leon S และคณะ ทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบ เกี่ยวกับภาวะ Long COVID ในเด็กและวัยรุ่น”

ชี้ให้เห็นว่า พบภาวะ Long COVID ในเด็กและวัยรุ่นได้ 25.24% (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 18.17-33.02) ปัญหาที่พบบ่อยคือ ความผิดปกติทางอารมณ์ ภาวะอ่อนเพลียอ่อนล้า และปัญหาการนอนหลับ ทั้งนี้เด็กที่ติดโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะมีอาการหายใจหอบเหนื่อยในระยะยาวมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบที่ไม่ติดเชื้อ ถึง 2.69 เท่า (ช่วงความเชื่อมั่นตั้งแต่ 2.30-3.14 เท่า)

อีกงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย โดย Moy FM และทีมงาน ได้ทำการศึกษาภาวะ Long COVID ในผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 732 คน ได้ผลสอดคล้องกับความรู้ทางการแพทย์ที่ได้จากงานวิจัยหลายต่อหลายชิ้นในอดีตที่ผ่านมา

“เพศหญิงมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Long COVID มากกว่าเพศชาย 58%” คนที่ติดเชื้อแล้วป่วยอาการปานกลางและรุนแรง จะเสี่ยงต่อการเกิด Long COVID มากขึ้นถึง 3-3.6 เท่า

การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ เป็นกิจวัตร คือหัวใจสำคัญในการอยู่รอดปลอดภัยในยุคระบาดรุนแรง กระจายทั่วดังเช่นปัจจุบัน ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น หากไม่สบาย ควรแจ้งคนใกล้ชิด ที่เรียน และที่ทำงาน หยุดเรียนหยุดงาน แล้วไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน ถือเป็นความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Thira Woratanarat