เมื่อวันที่ 15 มี.ค. รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เด็กปฐมวัยอายุน้อยกว่า 5 ปี เป็นวัยที่พัฒนาการทางสมองยังไม่สามารถเชื่อมโยงเหตุและผลได้สมบูรณ์ ไม่สามารถเรียนรู้ความเสี่ยงรอบตัว ไม่รู้อันตรายและหลบหลีกได้ด้วยตนเอง ผู้ปกครองจึงต้องดูแลใกล้ชิด ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 25 (2) ที่ระบุไม่ให้ผู้ปกครองละทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใดๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพ หรือไม่จัดให้มีการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ซึ่งการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมมักซ่อนเร้นอยู่ภายใต้การเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กเล็ก

โดยข้อมูลที่ศูนย์วิจัยฯ พบสถิติเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต ตั้งแต่ปี 45 จำนวน 1,600 ต่อปี ปัจจุบันลดเหลือ 700 คนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลดจาก 700 กว่าคนต่อปีเหลือ 200 กว่าคนต่อปี แต่การจมน้ำยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ระยะหลังจำนวนการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กเล็กชะลอตัวลงช้าๆ สาเหตุเกิดจากการที่ปกครองเผลอ คลาดสายตา หากวิเคราะห์เชิงลึกยังซ่อนเร้นสิ่งที่ยังสงสัยว่าเป็นการจงใจละเลยไม่ได้ป้องกันตั้งแต่แรกหรือไม่ คือรู้แต่ยังปล่อยปละละเลย ทั้งนี้เราตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำ จาก 7 กว่าคนต่อแสนประชากร ให้เหลือ 2 คน ต่อแสนประชากรในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งขณะนี้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ให้มีจำนวนการเสียชีวิตจากการจมน้ำไม่เกิน 60-70 คนต่อปี ต้องลดลงอีก 3 เท่าตัว

รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวอีกว่า เด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำ ส่วนใหญ่พบในครอบครัวที่ผู้ดูแลไม่มีศักยภาพเพียงพอจะเรียนรู้วิธีป้องกัน เป็นกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น รวมถึงพ่อแม่ที่ทำงานแล้วปล่อยให้ปู่ย่าอายุมากดูแล นอกจากนี้ยังเกิดในครอบครัวยากจน รวมถึงกลุ่มที่มีฐานะ แต่มีสถานะ 1.ครอบครัวหย่าร้าง 2.มีภาวะความรุนแรงในครอบครัว 3.มีการใช้สารเสพติด เมาสุรา 4.กลุ่มที่มีปัญหาก่ออาชญากรรม ก่อคดี และ 5.กลุ่มที่ปัญหาทางสุขภาพจิต ซึ่งกว่า 90% เกิดจากครอบครัวเหล่านี้

ทั้งนี้การลดอัตราเสียชีวิตจากการจมน้ำให้ได้ตามเป้าหมาย ต้องเพิ่มความเข้มแข็งระบบคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน เพิ่มสวัสดิภาพ สวัสดิการดูแลเด็กเล็กช่วยเหลือทดแทนกลุ่มครอบครัวศักยภาพไม่เพียงพอ โดยเฉพาะ 2 ขวบครึ่งลงไป เพิ่มความเข้มข้นให้ความรู้ฝึกทักษะพ่อแม่มือใหม่ที่เลี้ยงดูเด็กเล็ก รวมถึงพ่อแม่วัยรุ่นที่ส่งให้ปู่ย่าเลี้ยง ต้องฝึกอบรมให้ความรู้ จัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวเล็ก บ้านเรือนให้เกิดความปลอดภัย.