เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าตอนนี้ฝ่ายเกี่ยวข้องอยู่ระหวางการหารือเพื่อเตรียมปรับลดวันรักษาโควิดในโรงพยาบาล ให้ใช้ 7 วัน บวก 3 วันอย่างมีความปลอดภัย จากเดิมนอน รพ. 10 วัน ปรับลดให้นอน รพ. 7 วัน และกลับมาดูแลต่อที่บ้าน 3 วัน เพื่อบริหารเตียงและปรับตามสถานการณ์ของโรค เนื่องจากโรคเริ่มเบา แนวโน้มการติดเชื้อเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ประกอบกับ รพ.ต่างประเทศใช้เวลานอนรักษาตัวเพียง 3 -5 วัน ส่วนยาอื่นๆ ที่ใช้รักษา เช่น ยาโมลนูพิราเวียร์ ขณะนี้เข้ามาแล้วโดยไทยมีแหล่งจัดหายาโมลนูพิราเวียร์จากจีนและอินเดีย ในราคาที่พอเหมาะ

นอกจากนี้ นพ.เกียรติภูมิ ชี้แจงเรื่อง มาตรการยูเซ็ป พลัส (UCEP Plus) รองรับผู้ติดเชื้อโควิดกลุ่มสีเหลือง สีแดง และสีเขียว ที่อาการเปลี่ยนแปลง ให้เป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารักษาได้ในโรงพยาบาล (รพ.) ทุกแห่ง ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ 16 มี.ค. 2565 ว่าประกาศยูเซ็ป พลัส เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการเบิกจ่ายเงินเท่านั้น ไม่มีผลกระทบต่อประชาชน เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิดที่อาการน้อย สามารถติดต่อรับบริการที่ รพ.ตามสิทธิสุขภาพของตนเองได้ฟรี เช่น ประกันสังคม บัตรทอง สิทธิข้าราชการซึ่งจะเข้าระบบรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ที่ชุมชน (Community Isolation) หรือฮอสพิเทล (Hospitel) ได้เช่นเดิม สำหรับผู้ป่วยโควิดฉุกเฉิน ที่เข้าเกณฑ์ ยูเซ็ป พลัส ขณะนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ชี้แจงไปยัง รพ.เอกชนทุกแห่ง เรื่องการรักษาผู้ป่วย ยูเซ็ป พลัส แล้ว

“ผู้ป่วยสีเหลืองหรือแดง ถือเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถไปทุก รพ. แต่สีเขียว ขอให้ไปใช้บริการฟรีตามสิทธิของตนเอง” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว.