เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 19 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประโยชน์ของการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่าขณะนี้ไทยยังมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวนมาก ซึ่งโรคนี้เป็นโรคใหม่ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน และมีการระบาดอย่างกว้างขวาง ในฐานะหมอที่ต้องดูแลผู้ป่วยก็ย่อมต้องหาทาง หายามารักษาผู้ป่วย ตั้งแต่เจอโควิดครั้งแรกต้นปี 63 ตอนนั้นยังไม่รู้จักโรคดี ยังไม่มียารักษา เพราะเป็นโรคใหม่ ทางการแพทย์จึงพยายามนำยาต้านไวรัสต่างๆ ที่มีอยู่เดิม ที่ผ่านการรับรองมาใช้ในการช่วยผู้ป่วยโควิด ซึ่งทฤษฎีกลไกยับยั้งไวรัสได้ ผู้ป่วยหลายรายมีอาการดีขึ้น จนระยะหลังพบยาฟาวิพิราเวียร์ มีการขึ้นทะเบียนกับทาง อย.ไทย ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยหลายรายอาการดีขึ้น รวมทั้งสามารถหายามารักษาในไทยได้

“โดยหลักการในการนำยามารักษาคนไข้ คือ มีประสิทธิภาพดี ไม่มีผลข้างเคียง มีความเหมาะสมกับคนไข้นั้นๆ แต่ในเชิงที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก สิ่งที่ต้องพิจารณาต้องมีมากขึ้น นอกจากเรื่องประสิทธิภาพ หากยารักษาสามารถทำให้ผู้ป่วยหายได้ ดีกว่าไม่ให้ยาอะไรเลยสัก 30-40% ถือว่าดีมากแล้ว แต่ที่สำคัญต้องปลอดภัยไม่ทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลง อีกทั้งการให้ยาผู้ป่วยจำนวนมาก ต้องคำนึงถึงสถานการณ์การระบาด ความสามารถในการจัดหา ซึ่งพบว่ายาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่เราสามารถหามาได้ จากการศึกษาเบื้องต้น จากประสบการณ์การรักษาของคุณหมอ พบว่ายานี้ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง รักษาแต่เนิ่นๆ โอกาสอาการกลับไปรุนแรงก็ลดลง จากนั้นเราก็มีการรวบรวมข้อมูล ประเมินมาโดยตลอด จนถึงขณะนี้เรามีการประชุมพิจารณาไปแล้วกว่า 400 ครั้ง” 

ที่สำคัญเรายังมีคณะผู้เชี่ยวชาญมาทำวิจัยเรื่องนี้ร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ ยกตัวอย่าง การศึกษาศูนย์วิจัยทางคลินิก ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ได้ร่วมกับสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรคกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยได้วิจัยการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ แบ่งเป็ฯ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกผู้ป่วย 62 ราย และกลุ่มที่ 2 จำนวน 31 ราย ซึ่งกลุ่มแรกได้รับยาตามสูตรมาตรฐานปกติที่รักษาผู้ป่วย คือ ขนาด 1,800 มก. วันละ 2 ครั้งในวันที่ 1 ต่อด้วยขนาด 800 มก. วันละ 2 ครั้งในวันต่อมา ส่วนกลุ่มที่ 2 ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยผู้ป่วยในโครงการจะได้รับยาเฉลี่ย 1.7 วัน หลังเริ่มมีอาการป่วย

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการดีขึ้น 79% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ดังนั้น 2 กลุ่มนี้ จะเห็นว่าการให้ยาทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทำให้คณะผู้วิจัยมีความมั่นใจว่ายาฟาวิฯ ทำให้อาการดีขึ้น ทั้งนี้ จึงได้ข้อสรุปว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ให้วันละ 1,800 มก. วันละ 2 ครั้งในวันแรก และต่อด้วยขนาด 800 มก. วันละ 2 ครั้งในวันต่อมานานอีก 4 วัน เป็นยาที่ควรเริ่มเร็วและช่วยลดอาการป่วยได้ กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงได้อย่างมีนัยสำคัญกว่าการไม่รับยา 

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาอาการจะดีขึ้น79 % เทียบกับกลุ่มไม่ได้รับยาอาการจะดีขึ้นเพียง 32.3% แล้วกลุ่มที่ได้รับยาจะมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ของการรักษา และวันที่ 13 และวันที่ 28 จะมีปริมาณไวรัสต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา จึงเป็นที่มาที่คณะแพทย์มีความเชื่อมั่นการใช้ยานี้และรูปแบบการใช้ยาก็กินง่าย ไม่มีผลข้างเคียงที่ต้องกังวล เพียงแต่มีข้อจำกัดในผู้ป่วยรักษาช้า หรือมีอาการหนัก ประสิทธิภาพอาจไม่ดีนัก ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีคำแนะนำให้ยาฟาวิฯ แก่ผู้อาการไม่หนัก และรักษาแต่เนิ่นๆ

“ที่สำคัญที่ผ่านมาเรารักษาด้วยยาฟาวิฯ กับผู้ป่วยไปเป็นล้านคนแล้ว จึงขอยืนยันขอให้เชื่อมั่นในยาที่ใช้รักษา ขอความกรุณาอย่าด้อยค่ายาที่รักษา เราเคยมีปัญหาด้อยค่าวัคซีน ทำให้หลายคนเสียโอกาสการรับโอกาส บางคนกลัวการรับวัคซีน จนหลายรายน่าเสียใจ เสียชีวิตจากการไม่ได้รับวัคซีน” นพ.โอภาส กล่าว

ทางด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงประสิทธิภาพการใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ขณะนี้การรักษาโควิด-19 มีการติดตามข้อมูล มีการปรับแนวทางการรักษาเป็นระยะๆ อย่างไรก็ตาม สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ มีการใช้มา 2 ปี โดยช่วงแรกศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศ โดยกลไลการออกฤทธิ์ เป็นการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ RNA ไวรัส ทำให้เชื้อไวรัสเปลี่ยนแปลงไป โดยจากการทบทวนอย่างเป็นระบบข้อมูลล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับยาฟาวิฯ มีอาการดีขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิฯ โดยเฉพาะใน 14 วันสัดส่วนอาการดีขึ้นอยู่ที่ 86.9% ขณะเดียวกันยังติดตามอาการใช้ยาอื่นๆ อย่าง Remdisivir มีกลไกการออกฤทธิ์ตำแหน่งเดียวกับฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งจริงๆ ช่วงเริ่มต้น ทางองค์การอนามัยโลก ยังไม่ได้รับรอง กระทั่งมีการใช้ระยะหนึ่งทาง US FDA จึงได้ให้การรับรองใช้ยาตัวนี้สำหรับการรักษาในภาวะฉุกเฉินโดยให้ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งมีประโยชน์กับคนไข้ที่ทานยาไม่ได้ มีปัญหาการดูดซึมและใช้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ โดยเมื่อศึกษาวิจัย พบว่าผู้ป่วยมีอาการลดลง นอน รพ.ลดลง โดยพบนอน รพ. 10 วัน ส่วนกลุ่มที่ได้รับยาหลอก นอน รพ. 15 วัน

สำหรับยาตัวที่ 3 เป็นยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) อยู่ในกระบวนการเตรียมพร้อมกระจาย หลังได้รับการอนุมัติจากอีโอซี กระทรวงสาธารณสุขและ ศบค. ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์จุดเดียวกัน และลดความเสี่ยงจะเกิดอาการรุนแรงขนาดยารับประทานสำหรับผู้ใหญ่ 800 มก. คือ แคปซูลขนาด 200 มก. จำนวน 4 แคปซูล โดยให้รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 5 วัน รวม 40 แคปซูลต่อคน ซึ่งยาตัวนี้ต้องให้ภายใน 5 วันหลังได้รับการวินิจฉัยเริ่มมีอาการ ตัวที่ 4 คือ ยา Paxlovid กลไกการออกฤทธิ์แตกต่างกัน จะออกที่เอนไซม์ ทำให้เชื้อลดจำนวนลง ไม่สามารถเกิดผลกับโรคได้ โดยยาตัวนี้ประกอบด้วยยา 2 ชนิด คือ Nirmatrelvir และ Ritonnavir ทำให้ลดความเสี่ยง 88 เปอร์เซ็นต์ กรณีให้ภายใน 5 วันหลังมีอาการ ที่สำคัญยาตัวนี้พบว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด จึงได้มีการสำรองยาตัวนี้ โดยกลางเดือนหน้าจะนำเข้า และกระจายในลำดับถัดไป

นพ.มานัส กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการใช้ยามาระยะหนึ่ง จุดสำคัญพบว่า ยาแต่ละตัวมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน อย่าง เรมเดซิเวียร์ เป็นยาช่วยในกลุ่มที่มีอาการปานกลาง สามารถให้ได้ทางหลอดเลือดดำ และหญิงตั้งครรภ์ รวมทั้งกลุ่มมีปัญหาการดูดซึมหรือการทาน ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ ยังมีประโยชน์ และให้ได้ในหญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ส่วนยา 2 ตัวที่เหลือ เป็นยารับประทาน เป็นยาใหม่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ และการให้นมบุตร 

ทั้งนี้ นอกจากประสิทธิภาพและความปลอดภัย จุดสำคัญคือ ความพร้อมในการใช้ยา หรือการจัดหายา และราคายา ต้องคำนึงภาพรวมด้วย ซึ่งมีคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการรักษา โดยมีการติดตามค่าใช้จ่ายในแต่ละราย ยกตัวอย่าง ยาฟาวิฯ กระบวนการรักษา 1 คอร์ส ประมาณ 800 บาท ส่วนเรมเดซิเวียร์อยู่ที่ 1,512 บาท ส่วนยาใหม่ 2 ตัว ทั้งโมลนูพิเราวียร์ และแพกซ์โลวิด ณ ปัจจุบัน ยังอยู่ที่คอร์สละประมาณ 10,000 บาท

“การได้มาของแนวทางการรักษา จะมีการปรับเปลี่ยนตามหลักฐานเชิงประจักษ์ ซึ่งมีการประชุมของผู้เชี่ยวชาญตลอด โดยล่าสุดมีการปรับปรุงไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มี.ค.2565 แต่ในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุม และอาจมีการปรับปรุงแนวทางการรักษา ซึ่งมีการจำแนกความรุนแรงของโรค ยาตัวเลือกที่มีให้ใช้ การรักษาตามอาการ รวมทั้งฟ้าทะลายโจร” 

นอกจากนี้ ข้อมูลจากโครงการ “เจอ แจก จบ” ก็มีการใช้ยา 3 สูตร โดยทั้งการรักษาตามอาการ พบสัดส่วน 52% ส่วนการใช้ยาฟ้าทะลายโจร 24% และการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ 26% ซึ่งตรงนี้เป็นข้อมูลจากเขตสุขภาพที่ 4 เขตสุขภาพที่ 5 และเขตสุขภาพที่ 6  ขอย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุขทำงานกันเป็นทีม มีการติดตามประเมินการติดเชื้อ การใช้ยา ประสิทธิภาพต่างๆ อย่างต่อเนื่อง