เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงโรคไข้เลือดออกที่คาดว่าจะมีการระบาดหนักในปีนี้ ว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่นของไทย ข้อบ่งชี้การระบาดไข้เลือดออกคือ ลูกน้ำยุงลาย ซึ่งขณะนี้สำรวจพบดัชนีลูกน้ำยุงลายเริ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะต้นปีนี้มีฝนมาก จึงจับสัญญาณว่าไข้เลือดออกน่าจะมาแรง เริ่มระบาดหลังสงกรานต์ และน่าจะระบาดมาก เพราะธรรมชาติของไข้เลือดออกจะระบาดลักษณะ 1 ปีเว้นปี หรือเว้น 2 ปี สำหรับสายพันธุ์ที่คาดว่าน่าจะมีการระบาดในปีนี้คือ เดงกี 2 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เพราะหากติดเชื้อร่วมกับสายพันธุ์อื่น ก็จะทำให้โรคมีความรุนแรง มีโอกาสเสียชีวิตสูง ทั้งนี้ ไข้เลือดออกไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะ โดยจะมีจุดวิกฤติคือ เมื่อไข้สูงแล้ว จากนั้นไข้จะลดลง ซึ่งเป็นระยะที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะอาจจะมีอาการเลือดออก ช็อก ดังนั้น ช่วงนี้ต้องประคับประคองใกล้ชิดให้ดี เช่น ให้สารน้ำเพื่อป้องกันอาการช็อก และหากเลือดออกมาก ก็จะเกิดน้ำท่วมปอดเสียชีวิตได้

นพ.โอภาส กล่าวว่า อาการไข้เลือดออกช่วงแรกใกล้เคียงโควิด-19 มาก และเนื่องจากขณะนี้สถานการณ์โควิดระบาดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เมื่อติดเชื้อพร้อมกัน อาการช่วงแรกจะมีไข้ซึ่งอาจจะแยกไม่ออก ยกเว้นจะมีอาการระบบทางเดินหายใจชัดว่าเป็นโควิด เช่น น้ำมูก เจ็บคอ แต่ถ้ามีไข้ ปวดเมื่อยตัว ปวดหัวมาก คลื่นไส้อาเจียน กินอาหารไม่ได้ ก็จะเป็นอาการไข้เลือดออก ฉะนั้น หากมีอาการคล้ายเป็นไข้เลือดออก ก็ขอให้พบแพทย์ เจาะเลือดวินิจฉัย เนื่องจากพบเคสผู้ป่วยมีอาการมีไข้ ปวดหัว มีน้ำมูกนิดหน่อย คิดว่าเป็นโควิด ตรวจเจอโควิด แต่อาการเริ่มแย่ลง มีอาเจียนเป็นเลือด แพทย์เจาะเลือดตรวจพบไข้เลือดออก ซึ่งเฉพาะช่วง 3 เดือนแรกของปี พบเสียชีวิตแล้ว 3 ราย เทียบกับปี 64 ทั้งปีมีผู้เสียชีวิต 6 ราย ฉะนั้น ถ้าเจออาการแปลก ๆ ไม่แน่ใจ ให้รีบพบแพทย์ และขอความร่วมมือทุกคนทุกฝ่าย ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อสม. ช่วยกันกำจัดลูกน้ำในภาชะที่มีน้ำขัง เพื่อลดโอกาสเกิดยุงลาย

นพ.โอภาส กล่าวว่า ขณะนี้ กรมควบคุมโรค เตรียมแผนรองรับแล้ว ซึ่งในวันที่ 22 มี.ค. จะเสนอในที่ประชุมสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขนำแผนปรับใช้ ผ่านกลไกคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่ไม่ได้ดูเฉพาะโควิดอย่างเดียว แต่ต้องดูโรคที่ก่ออันตรายให้ประชาชนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม แผนแบ่งเป็นระยะ ในส่วนระยะก่อนระบาดจะต้องติดตามดู กรณีเจอคนไข้สงสัยรายแรก ก็ให้รีบเข้าไปควบคุม ซึ่งขณะนี้เราได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อนำโดยแมลง เพื่อสำรวจและพ่นสารเคมีกำจัดลูกน้ำยุงลาย.