สถานการณ์รัสเซียและยูเครน ดูท่าแล้วจะไม่จบลงง่าย ๆ ทำให้หลายสำนักวิจัยเศรษฐกิจได้คาดว่า ราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดิบในตลาดโลก จะคงเพิ่มสูงขึ้นอีกสักพัก ยิ่งกดดันทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ซึ่งอาจกระทบกับเงินในกระเป๋าของประชาชน เพราะข้าวของจะแพงขึ้นไปอีก และจะเป็นเช่นนี้ทั่วโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทย

ในส่วนของประเทศไทย ผลกระทบที่เกิดขึ้น “ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ประเมินว่า ผลกระทบวิกฤติรัสเซียและยูเครน เข้ามาทับซ้อนวิกฤติโควิด และซ้ำเติมเศรษฐกิจไทย รวมทั้งความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อมากขึ้น ยิ่งทำให้กระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยประชาชน เพราะราคาพลังงานสูง ราคาอาหารแพง แม้ครัวเรือน เช่นผู้มีรายได้น้อย จะมีมาตรการรัฐเข้ามาช่วยดูแลก็ตาม

ซึ่งถ้าหากไม่สามารถเจรจายุติได้ในปีนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และยังมีมาตรการคว่ำบาตรตลอดปี ทำให้เศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ปีนี้ จะอยู่ที่ 2.5% จากเดิมคาด 3.7% และเงินเฟ้อเพิ่มมากถึง 4.5% จากคาดเดิม 2.1%

ทั้งนี้ ถ้าหากการเจรจามีความเป็นไปได้ การสู้รบมีขอบจำกัด แต่ยังคว่ำบาตรตลอดปี ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ จะอยู่ที่ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้คาดว่าจีดีพีไทยปีนี้ อยู่ที่ 2.9% และเงินเฟ้อ 3.8%

ขณะที่การคว่ำบาตรรัสเซียยังกระทบต่อนักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวรัสเซียเข้าไทย ส่วนนโยบายการเงินไทย เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประเมินความเสี่ยงของเงินเฟ้อเป็นรอบ ๆ ว่าเงินเฟ้อจะสูงแค่ไหน และธนาคารกลางสหรัฐจะปรับดอกเบี้ยมากกว่าที่ส่งสัญญาณไว้ 6 ครั้งหรือไม่ เพราะอาจจะมีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ส่งผลมายังอัตราแลกเปลี่ยนได้

“วิกฤติรัสเซียกับยูเครนมีผลกระทบต่อน้ำมันตลาดโลก ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เข้าใกล้ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว การเข้าคว่ำบาตรรัสเซีย อาจทำให้อุปทานน้ำมันดิบในโลกหายไป 1.5-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และดูแล้วชาติโอเปกยังไม่ส่งสัญญาณว่าจะเพิ่มกำลังการผลิต ทำให้เป็นประเด็นกดดันราคาน้ำมันสูง และกระทบต่อราคาอาหารโลกด้วย”

“ณัฐพร” ยังบอกว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า แค่โควิดก็ฟื้นช้าแล้ว มาเจอวิกฤติทับซ้อนอีก มองว่า ธปท. คงอยากคงดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ไว้ เพื่อเป็นแรงสนับสนุนฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ต้องติดตามปัจจัยภายนอก เช่น เฟด ขึ้นดอกเบี้ยถี่ขึ้น สูงขึ้นกว่าที่เคยส่งสัญญาณเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาหรือไม่

ถ้าการประชุมเฟด เดือน พ.ค. ตลาดมองว่าขึ้น 0.50% ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.75-1% สูงกว่าไทยไปแล้ว ไทยอาจยังพอยืนได้อยู่ แต่รอบเดือน มิ.ย. เฟดขึ้นอีก จะทำให้ช่องว่างห่างไปอีก อาจจับตา ธปท. ครึ่งปีหลัง ว่าจะขึ้นหรือไม่ โดยต้องดูเงินทุนเคลื่อนย้ายมีผลอย่างไรต่ออัตราแลกเปลี่ยน