วิบากกรรมคนไทย วิบากกรรมคนทั่วโลก ไม่จบไม่สิ้นสักที!! วิกฤติซ้อนวิกฤติ ทั้งพิษร้ายโควิด ทั้งวิกฤติสงคราม ต่างส่งผลให้ “ต้นทุน” ชีวิตคนไทยทั้งประเทศเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ระบบเศรษฐกิจที่กำลังผงกหัว ต้องหัวปักจมลงไปอีก หลายคนประคองชีวิตให้อยู่รอดไปได้ แต่อีกหลายคนก็สุดจะทนไปต่อไม่ไหวก็มี 

กลุ่มไหนใครได้อะไรบ้าง

ล่าสุด!! รัฐบาลยกขุนพลที่เกี่ยวข้องตั้งแถวหน้ากระดาน แจงรายละเอียดมาตรการช่วยประชาชนให้พ้นวิกฤติราคาพลังงานแพง–ผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย–ยูเครน ในช่วง 3 เดือนนี้ (เม.ย.-พ.ค.) ทั้ง 10 มาตรการ จะสามารถช่วยเหลือประชาชนคนไทยได้กว่า 40 ล้านคนทีเดียว ส่วนเงินที่ใช้รวมกันแล้ว 80,247 ล้านบาท มาจากการใช้เงินกู้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 39,520 ล้านบาท เงินสมทบของกองทุนประกันสังคม 35,224 ล้านบาท, สำนักงบประมาณ (งบกลาง) วงเงิน 3,740 ล้านบาท และ บมจ.ปตท. วงเงิน 1,763 ล้านบาท

ดีเซลทะลุรัฐจ่ายครึ่งนึง

ทั้งนี้คนที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการครั้งนี้ แยกเป็นผู้ใช้น้ำมันดีเซล ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรในเดือน เม.ย. 65 ถ้ากรณีราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 115–135 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุนลิตรละ 8 บาท ขณะที่ พ.ค.-มิ.ย. 65 รัฐสนับสนุนการตรึงราคาให้ครึ่งหนึ่ง ขณะที่ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน สนับสนุนส่วนลดค่าน้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ ให้ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะและบัตรประจำตัวผู้ขับรถสาธารณะ จำนวน 5 บาทต่อลิตร ปริมาณไม่เกิน 50 ลิตรต่อเดือนต่อคน คาดว่า เริ่มต้นเดือน พ.ค.นี้  

แอลพีจีช่วยแค่บัตรคนจน 

ผู้ใช้ก๊าซหุงต้ม กระทรวงพลังงานได้ตัดสินใจขึ้นราคาขายปลีกกิโลกรัมละ 1 บาท 3 เดือนติด เริ่มจาก เม.ย. เป็น 333 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม, พ.ค. เป็น 348 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม  และ มิ.ย. เป็น 363 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม หลังกองทุนควักจ่ายทดแทนมากว่า 28,000 ล้านบาท แต่ยังคงช่วยเหลือบรรดากลุ่มเปราะบาง คือ กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไป จะได้รับส่วนลดสำหรับซื้อก๊าซแอลพีจีเพิ่มเติมอีกจำนวน 55 บาทต่อ 3 เดือน รวมเป็น 100 บาทต่อ 3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 3.6 ล้านราย คิดเป็นค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 200 ล้านบาท, กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทั่วไป ที่เป็นผู้ค้าหาบเร่ แผงลอยที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บมจ.ปตท. ได้ให้ความร่วมมือรัฐบาล ให้ส่วนลดสำหรับซื้อก๊าซแอลพีจีไม่เกิน 100 บาทต่อรายต่อเดือน 

ปตท.ช่วยตรึงเต็มเหนี่ยว

ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวสำหรับยานยนต์ หรือเอ็นจีวี ตรึงราคาขายปลีกเอ็นจีวี เท่ากับ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม, ช่วยราคาเอ็นจีวี สำหรับผู้ขับขี่รถแท็กซี่ ที่ลงทะเบียนภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกันของ บมจ.ปตท. จำนวน 17,460 ราย ซื้อก๊าซเอ็นจีวีในอัตรา 13.62 บาทต่อกิโลกรัม วงเงินไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ส่วนผู้ใช้ไฟฟ้า เดือน พ.ค.-ส.ค. รัฐบาลจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าแก่ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน คิดเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ากว่า 20 ล้านราย หรือ 85% ของครัวเรือน ให้ส่วนลดเพื่อคงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ไว้ที่ 1.39 บาทต่อหน่วย

ลูกจ้าง-นายจ้างได้ครบ

ผู้ประกันตนตามม. 33 จำนวน 11.2 ล้านคน ได้ลดเงินสมทบจาก 5% เหลือ 1% เช่น หากคิดบนฐานเงินเดือน 15,000 บาท จากเดิมต้องส่งเงินสมทบ 750 บาท ลดลงเหลือ 150 บาท ลดภาระค่าครองชีพได้ 600 บาทต่อคนต่อเดือน ส่วน ม.39 จำนวน 1.9 ล้านคน ได้ลดเงินสมทบจาก 9% เหลือ 1.9% จากเดิมที่ต้องส่งเงินสมทบ 432 บาท ลดลงเหลือ 91 บาท ลดภาระค่าครองชีพไปได้ 341 บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่ผู้ประกันตนตาม ม.40 จำนวน 10.6 ล้านคน ได้ลดเงินสมทบในแต่ละทางเลือกลง 40% สำหรับนายจ้างจำนวน 5 แสนราย จะได้ลดเงินสมทบจาก 5% เหลือ 1% เป็นการลดต้นทุนการผลิต

แนะเตรียมแผนกลาง-ยาว

การเทหมดหน้าตักเช่นนี้ เชื่อได้ว่ามีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดูอย่าง “เกรียงไกร เธียรนุกุล” รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ที่มองว่า ถือเป็นการพยายามแก้ปัญหาให้ตรงจุด ลดค่าครองชีพ เช่น ค่าก๊าซ จาก 45 บาท เป็น 100 บาท พอหรือไม่ ช่วยวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตอบได้ยาก แต่ดีกว่าไม่ช่วย ต้องดูว่า สกัดต้นทางแล้วปลายทางจะปรับขึ้นราคาหรือไม่ เช่น ค่าวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เรื่องน้ำมันหลัง เม.ย. ก็ช่วยคนละครึ่งระหว่างรัฐ และประชาชน ลดอัตราเงินสมทบลูกจ้าง และนายจ้าง ถือว่าดี ลูกจ้างจะได้มีเงินเหลือจับจ่ายใช้สอย นายจ้างก็จะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนออกมา ช่วยค่าครองชีพประชาชน 

ดังนั้น..มาตรการที่ออกมาเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ออกมาช่วยลดค่าครองชีพในช่วง 2-3 เดือนนี้ ตอนนี้ต้องดูว่า สงครามยืดเยื้อหรือไม่ ถ้าเกิดเหตุที่ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งไปอีก ระหว่างนี้เชื่อว่า รัฐบาลได้เตรียมมาตรการระยะกลาง และระยะยาวไว้แล้ว เพื่อรองรับสถานการณ์ราคาน้ำมันอาจทะลุ 150 ดอลลาร์สหรัฐตามสมมุติฐานที่กระทรวงพลังงานเตรียมการเอาไว้ โดยเฉพาะเรื่องเงินกู้ ที่ต้อง
เตรียมไว้ ขึ้นอยู่กับความเสียหาย ถ้าชดเชยกับเยียวยา ก็ใช้เงินไม่สูงมาก แต่ถ้าต้องเติมเงินกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย ก็ต้องใช้เงินเยอะ

กระจายกลุ่มที่เดือดร้อนเพิ่ม

ถัดมาเสียงสะท้อนจากเอสเอ็มอี แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอี มองว่า มีบางส่วนอยากเสนอเพิ่มเติม เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เมื่อเพิ่มวงเงินในบัตร ไม่ต้องไปซื้อก๊าซหุงต้ม ไปซื้ออย่างอื่นตามความจำเป็นได้หรือไม่ น่าจะได้ประโยชน์เพิ่มเติม รวมทั้งเพิ่มช่องทางใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เช่น สหกรณ์การเกษตร เป็นการกระจายรายได้กับกลุ่มอื่น ๆ นอกจากธงฟ้า รวมทั้งต้องการให้กระจายจำนวนหาบเร่แผงลอยที่ได้รับสิทธิก๊าซแอลพีจีให้มากขึ้น เพิ่มกลุ่มขับขี่สามล้อรับจ้าง มีอยู่กว่า 6,000 ราย ได้รับสิทธิช่วยเหลือด้วย ซึ่งระยะยาว อยากให้รัฐ สนับสนุนเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอี อุตสาหกรรม

เดินหน้าเฟส3กระตุ้นศก.

ส่วนมุมมองด้านวิชาการ กูรูด้านเศรษฐกิจอย่าง “ธนวรรธน์ พลวิชัย” อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า ครั้งนี้ถือว่า รัฐบาลตอบสนองเร็ว อย่างการช่วยเหลือของกระทรวงพลังงานที่ระบุว่า จะมีเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท ก็จะอยู่ในระบบเศรษฐกิจ แต่ครั้งนี้ประชาชนไม่ได้เงินเพิ่มเหมือนเป็นการลดค่าใช้จ่าย ทำให้อัตราการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ถูกใช้รอบเดียว หรือรอบกว่า ๆ เพราะไม่ได้เติมเงินเพิ่ม เหมือนโครงการคนละครึ่ง แต่ไม่ได้ย่อเศรษฐกิจลง คาดว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยังเป็นบวกลบ 3.5%  โดยต้องดูว่า รัฐบาลจะมีมาตรการอะไรมากระตุ้นหรือไม่ มองว่าต้องทำเป็น 3 เฟส คือ เฟสแรก รัฐบาลต้องดูแลค่าครองชีพประชาชน ดูแลทั้ง 2 ขา ดูแลราคาพลังงาน กับดูแลโควิด-19 ให้ปรับมาเป็นโรคประจำถิ่น เฟด 2 การกระตุ้นเศรษฐกิจ ตอนนี้คนเรียกร้องคนละครึ่งเฟส 5 เราเที่ยวด้วยกัน ก็ต้องดูว่า รัฐจะเดินหน้าต่อหรือไม่ เฟส 3 เข้าสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ การลงทุนเติบโตยั่งยืน เช่น ลงทุนดิจิทัล  ตอนนี้เราต้องอดเปรี้ยวไว้กินหวาน ใช้จ่ายตามสมควร สิ่งที่รัฐบาลหวัง คือ การส่งออกมาพยุง  และพอโควิด-19 ขยับเป็นโรคประจำถิ่น ท่องเที่ยวจะมาช่วย สิ่งสำคัญ ต้องดูมาตรการกระตุ้นในไตรมาส 2 ขณะที่คนทั่วไป อยากให้รัฐมีโครงการคนละครึ่งเฟส 5 ออกมา และเพิ่มจำนวนเงิน หรือให้จำนวนเงินเท่าเดิม 1,500 บาท เพราะเป็นโครงการที่ใช้ได้จริง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ อย่าง 10 มาตรการที่ภาครัฐออกมาล่าสุด ส่วนใหญ่กลุ่มทำงาน ที่เป็นกลุ่มฐานใหญ่เสียภาษี มองว่ายังได้รับประโยชน์ไม่มาก เทียบกับผล
กระทบที่เกิดขึ้น 

เหล่านี้..คือเสียงสะท้อน แต่ที่สำคัญเหนืออื่นใด คือ..การสกัดราคาสินค้าและค่าบริการให้ได้ด้วยเช่นกัน ถ้าสกัดไม่อยู่ก็เท่ากับเหลว!