จากกรณีนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เตรียมแถลงข่าวกรณีมีผู้ร้องเรียนให้รับคดีการเสียชีวิตของแตงโมเป็นคดีพิเศษ ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เวลา 10.00 น. เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดให้ดีเอสไอต้องนำเรื่องที่มีผู้ร้องขอมาตรวจสอบ หากดีเอสไอไม่ดำเนินการจะเข้าข่ายความผิดมาตรา 157 แต่เบื้องต้นดีเอสไอ ยังไม่ได้รับคดีดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ แต่ได้มีคำสั่งให้ตั้งเป็นเลขสืบสวน เพื่อรวบรวมหลักฐานเสนอเข้าอนุกรรมการกลั่นกรองพิจารณา อย่างไรก็ตาม นางภนิดา ศิระยุทธโยธิน มารดาของแตงโม-นิดา พัชรวีระพงษ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าไม่ต้องการให้คดีการเสียชีวิตของแตงโมเป็นคดีพิเศษ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ผู้สื่อข่าวเดลินิวส์ได้ติดต่อสอบถามไปยัง นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ประธานเครือข่ายทนายคลายทุกข์ ในฐานะทนายความของ นางภนิดา มารดาของแตงโม นิดา เปิดเผยว่า จากกรณีดังกล่าว เท่าที่ตนทราบมาว่าในวันจันทร์นี้ ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะมีการแถลงเรื่องที่มีคนไปร้องเรียนให้รับคดีของคุณแตงโมเป็นคดีพิเศษ ดังนั้นตนในฐานะทนายความของผู้เสียหายก็ต้องรอฟังการแถลงข่าวก่อนว่าทางดีเอสไอจะรับคดีนี้หรือไม่ แต่โดยหลักการแล้วคดีลักษณะนี้จะไม่เข้าข่ายตามกฎหมายคดีพิเศษแนบท้ายบัญชีตาม พ.ร.บ.สอบสวนคดีพิเศษ เพราะคดีอาญาที่จะเข้าข่าย ต้องเป็นคดีที่ร้ายแรงกระทบความมั่นคงของประเทศ อาชญากรรมข้ามชาติ ผู้กระทำผิดต้องมียศตำแหน่ง เป็นนักการเมือง เป็นข้าราชการระดับสูง หรือคดีฟอกเงิน คดีแชร์ลูกโซ่ที่มีมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก

นายเดชา กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่อย่างไรก็ตาม ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีอำนาจทางกฎหมายสามารถนำคดีอื่นที่ไม่เข้าข่ายบัญชีแนบท้ายของดีเอสไอ เข้าที่ประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษพิจารณารับเข้าเป็นคดีพิเศษได้ โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ แต่หากทางดีเอสไอรับคดีของแตงโม นิดา เป็นคดีพิเศษจริง ประชาชนอาจจะตั้งข้อสงสัย ว่า เหตุใดถึงรับ แล้วในอนาคตไม่ว่าคดีไหนก็คงสามารถเป็นคดีพิเศษได้ จะทำให้เสื่อม อีกทั้งคดีดังกล่าวผู้เสียหายเองก็ไม่ได้เข้าไปร้องเรียนโดยตรง แต่เป็นคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาคำว่า พิเศษ ให้ดี และกระบวนการของคดีในขณะนี้ ไม่อยากให้เกิดการแทรกแซง เพราะใกล้จะได้บทสรุปแล้ว ทางตำรวจสอบสวนใกล้เสร็จสิ้นมากกว่า 90% รอแค่รายงานผลการชันสูตรครั้งที่ 2 และผลจากแล็บ ตนเกรงว่าหากมีคนอื่นเข้าไปยุ่ง อาจจะทำให้คดีเกิดความสับสนและซับซ้อนมากขึ้น.