เมื่อวันที่ 27 มี.ค. เวลา 09.00 น. นายสกลธี ภัททิยกุล ว่าที่ผู้สมัครรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่สำรวจระบบบริหารจัดการน้ำ การรักษาคูคลอง พื้นที่ปิดล้อม ประตูระบายน้ำ ระบบสาธารณูปโภค และเส้นทางการท่องเที่ยวริมคลอง พื้นที่เขตทุ่งครุ จากนั้นลงพื้นที่สำรวจแนวป่าโกงกาง และปัญหาการกัดเชาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน

นายสกลธี กล่าวว่า พื้นที่ทั้ง 2 เขต มีคลองสาขาเยอะมาก แต่มีปัญหาเรื่องน้ำทะเลหนุนทำให้น้ำในคลองมีค่าความเค็ม ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูกที่ยังดำเนินการอยู่หลายพื้นที่ เดิมพื้นที่ดังกล่าวมีการปลูก “ส้มบางมด” จำนวนมาก แต่หลังๆ มีการปลูกมะพร้าวแทน เพราะทนต่อน้ำกร่อยได้มากกว่า การแก้ปัญหาต้องพิจารณาทำประตูระบายน้ำบางจุดเพื่อควบคุมการปล่อยน้ำ

ทั้งนี้ แต่ละเขตมีปัญหาและความต้องการที่ต่างกัน การแก้ปัญหาและวางนโยบายจึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจแตกต่างกัน เขตทุ่งครุยังมีบางจุดที่น้ำประปายังเข้าไม่ถึงชุมชน ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณนอกจากสาธารณูปโภคใหญ่ๆ ที่ต้องสร้างแล้ว ความเดือดร้อนของประชาชนในแต่ละเขตต้องใส่ใจด้วย เขตทุ่งครุมีคลองสาขาจำนวนมาก ในอดีตคลองเป็น “หน้าบ้าน” พอถนนความเจริญเข้าถึงคลองกลายเป็น “หลังบ้าน” ปัญหาการบุกรุกคลองและทิ้งขยะจึงต้องใส่ใจปลูกจิตสำนึกและสำนักงานเขตต้องลงลุยเก็บอย่างต่อเนื่อง

นายสกลธี กล่าวอีกว่า อีก 1 เรื่องที่น่าทำและเกี่ยวข้องโดยตรงกับนโยบายการขนส่งสาธารณะดีกว่านี้ได้ของตนคือ การเชื่อมต่อ “ล้อ รางเรือ” ซึ่งคลองหลักในเขตนี้คือคลองบางมด หากเดินเรือไฟฟ้า EV ตามคลองบางมดไปประมาณ 9 กม. จะไปเจอสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวสถานีวุฒากาศ รวมถึงในอนาคตถ้ารถไฟฟ้าสายสีแดงเสร็จจะไปเชื่อมต่อการเดินทางที่สถานีดาวคะนอง ในระยะทางไม่ถึง 5 กม. ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนย่านนี้ สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้สะดวกมากยิ่งขึ้น และน่าจะเร็วกว่าการใช้รถบนถนนประมาณครึ่งชั่วโมงด้วยระยะทางที่เท่ากัน

สำหรับเขตบางขุนเทียน จากการลงพื้นที่โดยนั่งรถและปั่นจักรยานไปสำรวจสภาพแนวป่าโกงกางและการกัดเซาะชายฝั่งของน้ำทะเลตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งถูกกัดเซาะไปแล้วร่วม 5 กม. หลายหน่วยงานได้พยายามแก้ไขปัญหาในจุดนี้ โดยต้องทำประกอบกันทั้งการสร้างแนวกั้นไม้ไผ่และคอนกรีต เพื่อให้เกิดการทับถมของแนวดิน ที่ผ่านมาภาคเอกชนและภาครัฐได้เข้ามาช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องทำต่อไป เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์และผังเมือง รวมถึงพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เชื่อว่าช่วงเย็นๆ จะมีประชาชนที่อาศัยอยู่แถวนี้มาปั่นจักรยานและวิ่งออกกำลังเป็นจำนวนมาก