เหลือเวลาอีกไม่กี่วันคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่. …) พ.ศ. …จะมีการโหวตชี้ชะตาใช้บัตรเลือกตั้งเบอร์เดียวหรือคนละเบอร์จะเป็นไปในทิศทางใด แต่ค่อนข้างชัดเจนแล้วพรรคการเมืองส่วนใหญ่ ทั้งพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ และพรรคชาติพัฒนา เห็นไปในทิศทางเดียวกันใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เบอร์เดียวทั้งประเทศ ทั้ง ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ เพื่อให้ประชาชนจำได้ พรรคการเมืองหาเสียงได้ง่าย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งได้สะดวก
ยกเว้นพรรค “พลังประชารัฐ” เห็นว่าควรใช้คนละเบอร์ เพราะหากเป็นระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวจะขัดกับรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในทางกฎหมายไม่ว่ากฎหมายลูกจะเขียนอย่างไร ก็ต้องเป็นระบบการเลือกตั้งด้วยบัตร 2 ใบเพราะหากเป็นระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวจะขัดกับรัฐธรรมนูญ และมองว่าจะต้องกลับไปเริ่มกระบวนการใหม่ทั้งหมดเหมือนเดิม ขณะที่ “ภูมิใจไทย” ยังออกแนวลูกกั๊ก หลังจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวรัฐมนตรีคนหนึ่งเสนอกลับไปบัตรใบเดียวเหมือนเดิม

ทว่าว่าการผนึกรวมพลังกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ไปจนถึงพรรคฝ่ายค้านที่นั่งเป็นกรรมาธิการฯ แสดงให้เห็นจุดยืนที่ชัดเจนกระตุกเตือนความจำ “ผู้มีอำนาจ” ที่ยังไม่ละความต้องการที่จะให้การเลือกตั้งกลับไปใช้สูตรบัตรใบเดียว จึงไม่แปลก ที่จะเกิดภาพของการ “ชิงไหวชิงพริบ” ภายใน กมธ. ไล่เรียงมาตั้งแต่ ศึกชิงประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลวางเกมฮั้วฝ่ายค้าน จนมีการจับตาไปที่ความสัมพันธ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาล
งานนี้ “หมอชลน่าน” นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาดักคอว่า “เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่แก้ไขมีความชัดเจนว่ากฎหมายลูกที่ออกมาจะต้องเป็นบัตร 2 ใบ กลับไปใบเดียวไม่ได้ และถ้าไม่อคติกลัวพรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเบอร์เดียว เพื่อประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชน ส่วนการคิดคะแนนให้เป็นสัดส่วนสัมพันธ์โดยตรงจากบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ คือ หาร 100”

แน่นอนว่า “เพื่อไทย” หวังผลไปถึงคะแนนแบบแลนด์สไลด์ จากกติกาบัตร 2 ใบ หวังอาศัยกระแสพรรคเป็นตัวหนุนคะแนนให้ผู้สมัครอีกทางหนึ่ง เกมนี้ “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ สู้สุดใจ เพราะมองแล้วมีโอกาสชนะจัดตั้งพรรครัฐบาล กลับมามีอำนาจต่อรองทางการเมือง หวังกลับมาทวงแชมป์สนามเลือกตั้งการเมือง เห็นได้จากการโหมกระแสเปิดแคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย” พร้อมเดินสายออนทัวร์ลงพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือต่อเนื่อง
สุดท้ายนี้ต้องจับตา “เกมชิงไหวชิงพริบ” ขับเคี่ยวในกรรมาธิการฯ ของ 2 ฝ่าย กับความพยายามกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว สกัดฟื้นกติกาบัตร 2 ใบ บอกได้คำเดียวห้ามกะพริบตา รวมถึงความพยายามดันสูตรการได้มาซึ่งจำนวน ส.ส.ของบรรดาพรรคการเมือง ที่หลายพรรคต้องดีดลูกคิดคำนวณกันอีกหลายตลบ เพราะอาจส่งผลไปถึง “สูตรคณิตศาสตร์” การเมือง.