เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) สรุปภาพรวมโควิดประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 24,635 ราย, ผู้ป่วยสะสม 3,553,720 ราย, รักษาหายเพิ่ม 25,753 ราย, อยู่ระหว่างรักษาตัว 250,737 ราย, อาการหนัก 1,718 ราย, ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 675 ราย, เสียชีวิตเพิ่ม 81 ราย, รวมเสียชีวิตสะสม 24,880 ราย

สำหรับจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 3,248 ราย 2.ชลบุรี 1,390 ราย 3.นครศรีธรรมราช 1,328 ราย 4.สงขลา 973 ราย 5.สมุทรสาคร 872 ราย 6.สมุทรปราการ 865 ราย 7.นครปฐม 676 ราย 8.นนทบุรี 539 ราย 9.ฉะเชิงเทรา 526 ราย 10.ระยอง และ อุบลราชธานี จังหวัดละ 514 ราย

ส่วนยอดสะสมผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทย ณ วันที่ 28 ก.พ. 2564-27 มี.ค. 2565 มีจำนวน 128,760,443 โด๊ส แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 55,321,487 ราย, ผู้ที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 จำนวน 50,247,181 ราย, ผู้ที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 ขึ้นไป จำนวน 23,191,775 ราย

นพ.สุทัศน์ โชตนะพันธ์ ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การติดเชื้อโควิดในพื้นที่ กทม. พบแนวโน้มระบาดต่อเนื่อง กระจายทุกเขต ทุกกลุ่มอายุ และขอเชิญชวนประชาชนในพื้นที่ กทม.โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงมีโรคประจำตัว สูงอายุ ขอให้รับเข็มกระตุ้นเมื่อถึงเวลา โดยสามารถขอรับได้ทันทีที่สถานพยาบาลทุกแห่ง

เมื่อถามถึงมาตรการสงกรานต์ในพื้นที่ กทม. นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า สำหรับวันนี้มีการประชุม ศปก.ศบค. ซึ่งมีการวางแนวทางภาพใหญ่ จากนั้นวันที่ 29 มี.ค. คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร นัดประชุมเพื่อนำแนวทางมาปรับใช้มีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้น การจัดกิจกรรมสงกรานต์ สามารถทำได้ แต่งดสาดน้ำ ประแป้ง ส่วนการดื่มแอลกอฮอล์ มีแนวโน้มผ่อนคลายมากขึ้นเช่นกัน แต่การรวมกลุ่มดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายความคิดเห็น ทั้งที่อยากให้ดื่ม ทั้งที่ไม่อยากให้ดื่ม แต่คาดว่าสุดท้ายจะให้ดื่มในสถานบริการที่ได้รับรองจาก SHA Plus รวมถึงมีการกำหนดเวลา แต่การรวมกลุ่มตั้งวงไม่แนะนำ.