เมื่อวันที่ 28 มี.ค. เพจเฟซบุ๊ก ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความระบุว่า ฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดหนัก ยังไม่เท่าความอึมครึมของข่าวสาร

“ทำไมหมอไม่ให้ยาฟาวิฯ ยายผม 60 ปีแล้ว มีเบาหวานด้วย”
“ช่วงนี้ยาฟาวิฯมีน้อยมาก หมอขอสงวนไว้สำหรับคนที่หนักจริงๆนะ”
“โรงพยาบาลห่วยๆ ยาฟาวิฯก็ยังไม่มี ”
“มันไม่มียาจริงๆ กินฟ้าทะลายโจรไปก่อน ได้ผลเหมือนกัน หากไม่ดีขึ้นมาโรงพยาบาลได้ตลอด”
“ถ้ายายผมพี่ผมเป็นอะไรไป หมอต้องรับผิดชอบ”

นี่คือสถานการณ์จริงหน้างาน สืบเนื่องจากความคาดหวังของผู้ป่วยและญาติกับฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดแคลนหนัก

สถานการณ์ฟาวิพิราเวียร์ที่ขาดหนักทั้งประเทศ ยังไม่ดีขึ้นนับตั้งแต่ที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาบ่นดังๆ เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565 และผู้ใหญ่ผู้โตพูดออกสื่อว่า “ไม่จริง ยามีเพียงพอ” แต่ความจริงถ้าลองถามโรงพยาบาลต่างๆดู จะพบมาช่วงเดือนสองเดือนนี้ ฟาวิฯมีใช้อย่างจำกัดจำเขี่ย แม้จ่ายยาตามแนวปฏิบัติของกรมการแพทย์ที่ใช้จ่ายเฉพาะคนอายุ 60 ปีขึ้นไปก็ยังไม่พออย่างยิ่ง ขาดหนักจนบางพื้นที่ให้เฉพาะคนที่มีภาวะปอดบวมเท่านั้น

ฟาวิพิราเวียร์เป็นยาต้านไวรัส ลดการแบ่งตัวของไวรัส งานวิจัยของศิริราชชัดเจนว่า การทานฟาวิฯเร็วภายใน 2 วันแรกของการเจ็บป่วย จะช่วยให้โอกาสที่อาการจะหนักลดลง ดังนั้นยาฟาวิฯหากจะให้ได้ผลดี ต้องทานให้เร็ว การมียาเพียงพอจึงจำเป็น

ฟาวิฯพอไม่พอ ขอให้ สธ.แถลงแบบลงรายละเอียดว่า เหตุที่ฟาวิจึงขาดหนัก การนำเข้าเคมีภัณฑ์สะดุดหรือ องค์การเภสัชผลิตปั๊มเม็ดยาได้สัปดาห์ละกี่เม็ด คงที่ไหม ราคาผลิตเองเม็ดละเท่าไหร่ ข่าวที่ว่าองค์การเภสัชจะเลิกผลิตโดยจะนำเข้าอย่างเดียวจริงไหม ทำไม ขณะนี้นำเข้ามาสัปดาห์ละกี่เม็ด ราคาเม็ดละเท่าไหร่ รวมๆแล้วแต่ละสัปดาห์จะมีฟาวิฯให้กระจายได้กี่เม็ด จะกระจายอย่างไร เป็นต้น

การขาดแคลนฟาวิพิราเวียร์เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่สิ่งที่ไม่เข้าใจก็คือ ทำไมกระทรวงสาธารณสุขไม่ออกมาบอกความจริงกับสังคมและโรงพยาบาลต่างๆ และร่วมวางแผนกันให้เปิดเผย สิ่งที่ทุกโรงพยาบาลอยากรู้คือ จะได้รับจัดสรรครั้งละประมาณกี่เม็ดและหลังรับจัดสรรแล้วอีกกี่วันจึงจะได้มาอีก จะได้บริหารยาให้เหมาะสมกับจำนวนยาที่มี

ความยากของแพทย์และบุคลากรสุขภาพในปัจจุบันคือ ไม่รู้เลยว่ายาฟาวิฯที่เหลืออยู่ในมือสมมุติว่า มีเหลือ 2000 เม็ด ซึ่งใช้ได้ 40 คน อีกกี่วันจึงจะได้มาเติม จะได้บริหารยาให้ดีที่สุดในท่ามกลางความขาดแคลน

ส่วนยาโมลนูพิราเวียร์นั้นแม้จะนำเข้ามาแล้ว แต่มีจำนวนน้อย ราคาแพงกว่าฟาวิฯมาก การจะขอใช้ยายุ่งยาก จึงไม่อาจนำมาทดแทนฟาวิฯได้

การยอมรับความจริงและร่วมวางแผนรับสถานการณ์ที่ขาดแคลนอย่างเปิดอกของ สธ. น่าจะดีกว่าการปล่อยให้อึมครึมปล่อยให้พื้นที่ไถๆเอาตามมีตามเกิดแบบนี้นะครับ ไถมาร่วมเดือน ชักจะไถไม่ไหวแล้ว คนไข้ไม่เข้าใจ ก็ทะเลาะกับแพทย์ พยาบาล ทุกวัน
รอบนี้อย่าบอกนะว่า “ยาฟาวิฯมีเพียงพอ” ปัญหามีไว้แก้ ขอแค่บอกความจริงกับสังคม แล้วแก้ปัญหาไปด้วยกัน