นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ได้ประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทประจำวันที่ 29 มี.ค. 65 โดยค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.77 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาทต่อดอลลาร์

แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวมจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงได้ แต่โดยรวม การเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์กลับมีความผันผวนพอสมควร โดยปัจจัยหนุนบรรยากาศในตลาดการเงินนั้น มาจากความหวังการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน หลังจากที่ยูเครนแสดงท่าทีพร้อมยอมรับเงื่อนไขสถานะเป็นกลางของประเทศ

ขณะที่ปัจจัยกดดันตลาดการเงินนั้นมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในจีน ที่ยังมีความรุนแรงอยู่ และทำให้ล่าสุด ทางการจีนประกาศล็อกดาวน์ เซี่ยงไฮ้ ซึ่งภาพดังกล่าวได้สร้างความกังวลต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจกระทบภาพรวมเศรษฐกิจโลก และยังทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงหนัก (ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ย่อตัวลงจากระดับ 114 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สู่ระดับ 108 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) จากแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานจากจีนที่ลดลง หากเศรษฐกิจชะลอตัว

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ John Williams และ Patrick Harker เพื่อวิเคราะห์มุมมองของเฟดต่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ และนโยบายการเงินเฟด หลังบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่างออกมาสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อจัดการปัญหาเงินเฟ้อในสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า มีโอกาสมากกว่า 70% (จาก CME FedWatch Tool) ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยราว 0.5% ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน

นอกจากนี้ สถานการณ์สงครามและการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังจากที่ล่าสุด มีแนวโน้มว่าทั้งสองฝ่ายจะกลับมาเดินหน้าเจรจากันอีกครั้ง ซึ่งหากการเจรจามีความคืบหน้ามากขึ้น ก็อาจช่วยลดความร้อนแรงของสถานการณ์ และช่วยให้ผู้เล่นในตลาดกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า เงินบาทยังคงผันผวนในกรอบกว้าง โดยระหว่างวันมีโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่า ไปทดสอบแนวต้านใหม่ในโซน 33.90 บาทต่อดอลลาร์ได้ ท่ามกลางแรงกดดันจากปัญหาสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในจีน ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ การอ่อนค่าหนักของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อาจหนุนให้ยังคงมีโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่นในช่วงปิดปีงบประมาณของทางบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งอาจเป็นอีกแรงกดดันในฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาท

ทั้งนี้มองว่า หากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เทขายสินทรัพย์ไทยหนัก เงินบาทก็จะไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก ซึ่งล่าสุด นักลงทุนต่างชาติได้ทยอยกลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน แรงขายบอนด์ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติก็มีไม่มากนัก แต่ยังคงมีแรงขายบอนด์ระยะยาวจากนักลงทุนต่างชาติอยู่ สอดคล้องกับภาพการปรับลดการถือครองบอนด์ในตลาด EM เพื่อลดแรงกดดันจากการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์

ซึ่งคาดว่า หากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐทำจุดสูงสุดในปีนี้ในช่วงการประชุมเฟดเดือนพฤษภาคมได้ แรงกดดันต่อบอนด์ระยะยาวก็จะเริ่มลดลง และอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยกลับเข้ามาซื้อบอนด์ระยะยาวของไทยมากขึ้นได้เช่นกัน