เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวเรื่องการบริหารจัดการยาฟาวิพิราเวียร์ ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า จากสถานการณ์โควิดปัจจุบัน ติดเชื้อ 2-4 หมื่นรายต่อวัน รวมการตรวจ ATK ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้ยารักษา ทั้งฟาวิพิราเวียร์ โมลนูพิราเวียร์ และยาแพกซ์โลวิด อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลวันที่ 28 มี.ค. 65 มียาฟาวิพิราเวียร์คงคลังทั่วประเทศทั้งหมด 22.8 ล้านเม็ด และส่วนกลางอีก 2.2 ล้านเม็ด ตั้งแต่เดือน มี.ค. ถึงปัจจุบัน กระจายยาไปแล้ว 72 ล้านเม็ด ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการใช้ยาสูงเฉลี่ยวันละ 2 ล้านเม็ด ดังนั้น อัตราการใช้จึงอยู่ที่ 10 วัน แต่มียาเพิ่มเติมตลอดเวลา และได้มีการกระจายยาและคีย์ข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ VMI ว่าใช้ไปเท่าไหร่ จะปรากฏข้อมูลที่ส่วนกลาง ทำให้ทราบว่าเหลือยาเท่าไหร่ จากนั้นจะเติมไปให้ โดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) จะเป็นผู้จัดหายาเติมให้

“ใน 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยสูงขึ้น จึงมีการใช้ยาเพิ่มและไม่ได้คีย์ข้อมูลเป็นปัจจุบัน มาคีย์ครั้งเดียว ทำให้ส่วนกลางไม่ทราบว่า บางที่มีการใช้ไปเท่าไหร่ จึงเป็นเหตุให้เติมไม่ทัน แต่ไม่ได้ขาดยา เพราะมีการบริหารจัดการหมุนเวียนในจังหวัด รพ.ข้างเคียงส่งไปเติมได้”

รองปลัด สธ. กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อยหรือไม่มีอาการทุกรายไม่จำเป็นต้องรับยา เพราะส่งผลต่อตับ ไตวาย รวมถึงเมื่อฉีดวัคซีนแล้วสามารถสู้กับเชื้อได้ 5-7 วัน ดังนั้น ทั้งหมดจะเป็นไปตามแนวปฏิบัติการรักษาของผู้เชี่ยวชาญ เป็นการสำรองยาสำหรับคนที่ต้องการยาจริง ๆ ทั้งนี้ ข้อมูลจากสูตรการรักษา “เจอ แจก จบ” เขตสุขภาพที่ 4, 5 และ 6 มีการจ่ายยายาฟาวิพิราเวียร์ให้ผู้ป่วย 26% ฟ้าทะลายโจร 24% อีก 52% ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ซึ่งที่ผ่านมาพบ 0.5% มีอาการรุนแรงสูงขึ้นต้องไป รพ. ดังนั้นต้องสังเกตอาการ หากรุนแรงขึ้นก็จะได้รับช่วยเหลือในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป แต่ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง

ทางด้าน ภญ.ศิริกุล เมธีวีรังสรรค์ รอง ผอ.อภ. กล่าวว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขมอบให้ อภ. มีการสำรองยา 110 ล้านเม็ด เมื่อปลายเดือน ก.พ. 2565 ซึ่ง อภ. ได้ทยอยส่งมอบให้ สธ. ประมาณ 80 ล้านเม็ด อีก 30 ล้านเม็ดจะทยอยส่งต่อเนื่องจนถึงกลาง เม.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ปลายเดือน มี.ค. สธ. ให้สำรองยารองรับเทศกาลสงกรานต์ และแจ้งแผนความต้องการเป็นฟาวิพิราเวียร์และโมลนูพิราเวียร์ 75 ล้านเม็ด ขณะนี้ อภ. ได้เตรียมการสำรองแล้ว โดยจะมากลาง เม.ย.นี้ ส่วนยาโมลนูฯ เมื่อมีการลงนามในสัญญา จะมีการส่งยาภายใน 2 สัปดาห์อีกประมาณ 10 ล้านเม็ด

ขณะที่นายมานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ยามีทั้งข้อดีข้อเสีย จึงจำเป็นต้องให้ยากับคนที่จำเป็นต้องรับยาจริง ๆ โดยผลกระทบจากการใช้ยา โดยในหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะไตรมาสแรก จะมีผลกระทบกับพัฒนาการทารกในครรภ์ได้ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบกับกลุ่มมีปัญหาโรคตับ โรคไต เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร และยาฟาวิพิราเวียร์ทำให้กรดยูริคสูงขึ้นด้วย