กระแสเลือกตั้งถูกจุดขึ้นมาแล้ว หลายคนคงค่อนข้างเชื่อที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พูดว่า “จะยุบสภาช่วงปลายปีหลังเอเปค” เพราะถ้าใช้วิธียุบสภา เงื่อนไขสังกัดพรรคของผู้สมัคร ส.ส.จะเหลือแค่ 30 วันทำให้สามารถย้ายไปพรรคที่เกิดใหม่ได้ง่ายขึ้น
ตอนนี้ก็มีพรรคเกิดใหม่ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองแล้ว คือพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ พรรคเศรษฐกิจไทยที่มี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นแกนนำ ซึ่งน่าสนใจว่าจะดูดเสียงจากพรรค พปชร.มาได้มากแค่ไหน พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะตั้ง
ข่าวว่าพรรคนี้จะเป็น “พรรคอะไหล่” ที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นนายกฯ อีกสมัย โดยตอนนี้เริ่มมีการเปิดชื่อคนเข้าพรรคที่เป็นคนดังบ้างแล้วอย่าง นายปองพล อดิเรกสาร อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย และข่าวว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ก็จะมาอยู่

หันมาอีกกลุ่มหนึ่งที่กำลังเดินหน้าพรรค โดยการลงพื้นที่ถี่ๆ คือพรรคสร้างอนาคตไทย (สอคท.) ที่มีแกนนำคือ นายอุตตม สาวนายน และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตแกนนำพรรค พปชร. นำพรรค ซึ่งก็ดึงคนจาก พปชร.มาได้ส่วนหนึ่ง คาดว่าจุดขายคือ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีดูแลเศรษฐกิจ
พรรคที่ประเดิมชิมลางเลือกตั้งไปบ้างแล้วก็คือพรรคกล้า ที่มี นายกรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งคาดว่าจะชูประเด็นเศรษฐกิจเป็นหลักตามความถนัดของหัวหน้าพรรค โดยประเด็นที่นายกรณ์สนใจ คือ การเพิ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ และการส่งเสริม soft power หรือการสร้างเนื้อหาให้คนสนใจบริโภคสินค้า-บริการวัฒนธรรม
โจทย์เศรษฐกิจจะเป็นโจทย์ที่สำคัญมากในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะผลกระทบจากสงครามทำให้ราคาพลังงานสูง สินค้าเกษตรผลิตออกมาล้นตลาดทำให้ราคาตกต่ำ ราคาวัตถุดิบอย่างปุ๋ยก็แพง แม้แต่พวกมนุษย์เงินเดือนก็ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมาก การเสนอนโยบายจึงไม่ใช่เสนอแค่เพื่อปากท้องของประชากรกลุ่มรากหญ้า

และยังมีปัญหาหนี้ที่จำเป็นต้องสร้าง เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รัฐบาลต้องช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ แบบให้เปล่า ยอดหนี้เป็นเงินหลายล้านล้านบาท ถ้าเลือกตั้งใหม่ เปลี่ยนขั้วอำนาจใหม่ จะมีแนวทางการใช้หนี้ตรงนี้อย่างไร และการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย การกระตุ้นเศรษฐกิจจากท่องเที่ยวอีกล่ะ
ในส่วนพรรคเพื่อไทยนั้น “ชินวัตร” ยังเป็นอะไรที่ขายได้ จึงมีการชู “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม พรรคเพื่อไทย ให้โดดเด่นขึ้นมา แต่ไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคเพื่อป้องกันปัญหาความรับผิดชอบทางการเมือง หากเกิด “อุบัติเหตุ” อะไรให้พรรคโดนร้องเรียน
แม้จะยังแทงกั๊กว่าจะลง ส.ส.หรือจะเป็นแคนดิเดตนายกฯ เลยหรือไม่ แต่ท่าทีของทั้ง “อุ๊งอิ๊ง” และทั้ง “บิ๊กตู่” ก็ทำให้เห็นภาพกลายๆ ว่า การเลือกตั้งที่จะถึงนี้ก็ยังเป็น “ศึกศักดิ์ศรี” คือเอาลุง ไม่เอาลุง เอาแม้ว ไม่เอาแม้ว ..แต่ขั้ว “เอาลุง” อาจลำบากหน่อยเพราะดูเหมือนตอนนี้ พปชร.ก็เลือดไหลออกไปเยอะ และน่าจะออกไปอีก
ซึ่งถ้าคิดไปคิดมา มันก็เป็นการเมืองแบบน่าเบื่อหน่าย เหมือนเชียร์มวยมากกว่าเราจะมานั่งดูทางเลือกที่ดีที่สุดว่า “ใครจะเสนอนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ดี น่าเชื่อว่าทำได้” ในภาวะที่หลายสิ่งรุมเร้าอยู่ขณะนี้ “ความใฝ่ฝัน” ที่เชื่อว่าหลายคนอาจมีคือ หลุดพ้นจาก “วังวนสืบทอดอำนาจ” เสียที คนนึงก็มาทางสายเลือด คนนึงก็ใช้กติกาเอื้อประโยชน์
ขอรอดูจนใกล้วันเลือกตั้งว่า จะมี “ทางเลือกที่สาม” ที่น่าเลือกมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจหรือไม่ ที่สำคัญการเมืองต้องนิ่ง.