เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.ป.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กล่าวถึง การประชุม กมธ.วิสามัญฯ ในวันที่ 30 มี.ค. เพื่อลงมติประเด็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบใช้เบอร์เดียวกัน หรือคนละเบอร์ ว่า ตนในฐานะประธานไม่ขอลงมติรอบแรก แต่หากเกิดกรณีเสียงเสมอกัน ตนในฐานะประธาน กมธ. จะลงมติชี้ขาด
ส่วนประเด็นหากใช้บัตรเลือกตั้งเบอร์เดียวกัน สุ่มเสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายสาธิต กล่าวว่า “ประเด็นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ผมมั่นใจว่าเราทำงานภายใต้ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โดยใน กมธ. มีอดีตรัฐมนตรีจากหลายกระทรวง และมีคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ไม่มีปัญหา และไม่ผิดรัฐธรรมนูญ”
เมื่อถามอีกว่า มีความกังวลต่อบทบาท ส.ว. ทั้งในชั้น กมธ. และการพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 หรือไม่ นายสาธิตกล่าวว่า “ผมไม่กังวล เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกที่จะลงมติ แต่ตนขอเพียงไม่ให้เกิดความขัดแย้ง และคาดว่าการลงมติสถานการณ์จะสูสีกัน”
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.ป.ฉบับพรรค ปชป. เห็นว่าควรกำหนดให้เป็นหมายเลขเดียวกัน ทั้งผู้สมัคร ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ เพื่อความสะดวกกับผู้ใช้สิทธิ แต่ร่าง พ.ร.ป.พรรค ปชป. ไม่ได้รับความเห็นชอบตั้งแต่ต้น เราจึงต้องเอาร่างของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นร่างหลัก ต่อมา กกต. ได้รับฟังความเห็นและแก้ไขในประเด็นนี้ ตนจึงคิดว่าควรพิจารณาใน กมธ.วิสามัญฯ ก่อน เพื่อให้เกิดความรอบคอบ มิฉะนั้นอาจนำไปสู่การตีความ และทำให้เสียเวลา แต่โดยหลัก กมธ.วิสามัญฯ ต้องเห็นตามร่างหลักที่รับมา
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ยอมรับตอนนี้เสียงข้างมากใน กมธ. ที่นำโดย ส.ว., ครม. และพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมลงมติให้แยกหมายเลขบัตรเลือกตั้งเขตและบัญชีรายชื่อเป็นคนละเบอร์ โดยสามารถรวบรวมเสียงได้เกินครึ่ง หรือ 25 เสียง จากจำนวน กมธ.ทั้งหมด จำนวน 49 เสียง ขณะที่เสียง กมธ.ซีกฝ่ายค้านที่สนับสนุนการใช้หมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ เต็มที่คงได้ไม่เกิน 15 เสียงเท่านั้น ซึ่งฝ่ายค้านยอมรับสู้ไม่ได้ แต่จะขอแปรญัตติไปสู้ในวาระ 2 ชั้นรัฐสภา ส่วนเหตุผลที่ฝ่ายค้านต้องการให้มีเบอร์ผู้สมัครเป็นเบอร์เดียวทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนจำง่าย มีบัตรเสียน้อย กกต.ทำงานง่าย
นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ห่วงว่า การใช้ระบบเบอร์เดียวทั้งประเทศทำให้พรรคเพื่อไทยชนะแลนด์สไลด์ เกิดเผด็จการรัฐสภานั้น ขอถามกลับ นพ.ระวี ว่า แล้ววันนี้เรียกว่าเผด็จการอะไร ใช่เผด็จการเสียงข้างมากหรือไม่ การระบุว่า พรรค พท. จะทำแลนด์สไลด์ หากใช้บัตรเลือกตั้งแบบเบอร์เดียวกันนั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประชาชน ถ้าพรรค พท. ทำงานไม่ดีก็ไม่มีใครเลือก ควรเลิกอคติ เข้าข้างตัวเอง ต่อให้เป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือ ได้คนละเบอร์ พรรค พท. ชนะเลือกตั้งมาแล้วทั้งนั้น พรรคเล็กหากอยากเติบโตเร็ว ๆ ให้กินข้าวเยอะๆ
พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ส.ว. ในฐานะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กล่าวถึงการประชุมกมธ. ในวันที่ 30 มี.ค.เพื่อลงมติในประเด็นบัตรเลือกตั้งส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อ จะเป็นหมายเลขเดียวกันหรือไม่ว่าในส่วนของส.ว.ยืนยันต้องดำเนินการทุกอย่างให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กรณีดังกล่าวตาม มาตรา90 ระบุชัดเจนต้องเปิดรับสมัคร ส.ส.เขตก่อน แล้วค่อยสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อตามมาภายหลัง ดังนั้นบัตรเลือกตั้งส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อคงใช้เป็นหมายเลขเดียวไม่ได้ เพราะจะขัดรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างต้องเป็นไปตาม มาตรา90 ที่ยังไม่มีการแก้ไขโดย ส.ว.จะยึดตามหลักเกณฑ์นี้ รวมถึงประเด็นอื่นๆ อย่างส.ส.พึงมี ที่ยังต้องมีอยู่ต่อไป เพราะรัฐธรรมนูญยังไม่มีการแก้ไขในประเด็นนี้
“จุดยืนของส.ว.ต้องทำตามรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดจะใช้บัตรเลือกตั้งแบบแยกคนละหมายเลข สกัดพรรคเพื่อไทยไม่ให้ชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์แต่ยืนหยัดตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้เป็นเกมอำนาจทางการเมือง” พล.อ.อกนิษฐ์ กล่าว
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ส.ว. ในฐานะโฆษก กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กล่าวถึงกระแสข่าวที่กมธ.ฝ่ายรัฐบาลและส.ว. มีความชัดเจนจะลงมติโหวตบัตรเลือกตั้งสองใบแบบคนละเบอร์ว่ารายงานข่าวคงดูจากสัดส่วนกมธ. และดูจากการให้สัมภาษณ์ของกมธ.บางคน อาจเป็นไปตามคาดการณ์หรือไม่ก็ได้ ขณะนี้ส.ว.คุยกันถึงการลงมติให้สอดคล้องรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 ที่จำเป็นต้องส่งส.ส.เขตก่อนแล้วจึงค่อยมาส่งบัญชีรายชื่อ ทำให้มีแนวโน้ม บัตรเลือกตั้งเป็นคนละเบอร์ จากการอภิปรายของส.ว. คาดการณ์ว่า ส.ว.ส่วนใหญ่คงเห็นด้วยกับบัตรคนละเบอร์ แต่ยังมีส.ว.ที่เห็นต่างออกไป การลงมติคงให้เป็นเอกสิทธิ์แต่ละคน แต่การลงมติของกมธ.ไม่ใช่ขั้นตอนสุดท้ายต้องเข้าสู่การประชุมรัฐสภาใหญ่ตัดสินอีกครั้ง
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. กล่าวว่า เท่าที่ฟังมากมธ.ส่วนใหญ่อยากเอาตามร่างครม.และพรรคร่วมรัฐบาลที่รับหลักการมาคือ ใช้บัตรเลือกตั้งคนละเบอร์ ส่วนตัวมองว่าการใช้บัตรเบอร์เดียวทั้งประเทศไม่สอดรับกับรัฐธรรมนูญ มาตรา90 ที่ให้ส่งส.ส.เขตแล้วค่อยส่งส.ส.บัญชีรายชื่อ และเจตนารมณ์การแก้รัฐธรรมนูญให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อแยกให้ประชาชนใช้ดุลยพินิจเลือกพรรคหรือส.ส.เขตได้ เชื่อว่ากมธ.หลายคนคงเห็นว่า ควรเป็นแบบคนละเบอร์.