เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่ห้องแกรนด์ บอลรูม รร.แชงกรี-ลา กรุงเทพฯ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานร่วมและกล่าวสนับสนุนต่อความร่วมมือดำเนินงานในพิธีประกาศ MISSION 2023 ผนึกกำลังมุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์: มาตรการทดแทนปูนเม็ด โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวันชัย วราวิทย์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานร่วมและกล่าวสนับสนุน นายสุเมธ มีนาภา รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง (ยผ.) นายชนะ ภูมี นายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย และภาคีเครือข่ายต่างๆ ร่วมงาน โดยมี นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวรายงาน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นในการร่วมเป็นภาคีสำคัญเพื่อ Change for Good สร้างสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยและโลกใบนี้ เพื่อช่วยรักษาโลกใบเดียวของเราที่มีอยู่ให้คงอยู่มีอายุยืนยาว อยู่รอดปลอดภัยจากภาวะโลกร้อน ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้กล่าวในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 อย่างชัดเจนว่า “เราไม่มีแผนสำรอง No plan B เพราะเรามีโลกใบเดียวเท่านั้น ที่จะเป็นที่อยู่อาศัยของมวลมนุษยชาติ” โดยสิ่งที่เราทำในวันนี้นับว่าเป็นสิ่งที่เราทุกคนได้ช่วยกันทำบุญให้กับมวลมนุษยชาติร่วมกัน ซึ่งในบรรดามวลมนุษยชาติจำนวนมากนั้น ก็มีญาติพี่น้องและลูกหลานของเราอยู่ด้วย ที่จะได้อยู่อาศัยในโลกที่แสนจะสวยงามใบนี้ หลังจากที่พวกเราล่วงลับไปแล้วในอนาคต

นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการดำเนินงานไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นเป้าหมายเดียวกันของนานาประเทศทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการน้อมนำแนวพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่ทรงมุ่งมั่นในการรักษาและต่อยอดแนวพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการส่งเสริมการใช้ผ้าไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นการรักษาภูมิปัญญาอัตลักษณ์ของบรรพบุรุษให้คงอยู่แล้ว ยังมีส่วนช่วยในการลดภาวะโลกร้อนด้วย เพราะสิ่งที่เป็นพระวิสัยทัศน์อันแสดงถึงสายพระเนตรที่ยาวไกลของพระองค์ท่านในเรื่องดังกล่าวที่อยู่ในพระดำริ นั่นคือ ทุกขั้นตอนกระบวนการผลิตด้วยการพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน ทั้งการปลูกฝ้าย ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ย้อมสีผ้าด้วยสีธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2563 ให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสวมใส่ผ้าไทยในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ ไม่น้อยกว่า 2 วัน และประโยชน์อีกประการหนึ่ง คือ การที่เราสวมใส่ผ้าไทย ทำให้เราไม่ต้องเปิดแอร์อุณหภูมิที่ต่ำมาก ทำให้ลดการใช้พลังงาน ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ส่งผลการเกิดก๊าซเรือนกระจก

นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 ส.ค. 2565 ที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา กระทรวงมหาดไทย โดยผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ได้ร่วมกันผลักดันขับเคลื่อนสิ่งที่สนับสนุนเป้าหมายเดียวกันกับพวกเรา ด้วยการรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจในพื้นที่จังหวัด ร่วมกันคัดแยกขยะเปียกออกจากถังขยะทั่วไป และรณรงค์การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน ด้วยการทำปุ๋ยหมักระบบปิดประจำครัวเรือน ซึ่งที่ผ่านมาพี่น้องประชาชนจำนวน 12 ล้านครัวเรือนที่เป็นเป้าหมายขั้นต่ำในทุกพื้นที่ของประเทศไทยได้ร่วมกันขับเคลื่อนกระทั่งสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (CO2e) 5 แสนตันต่อปี เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ประมาณ 65 ล้านต้น จึงขอใช้โอกาสนี้ในการเชิญชวนให้ผู้บริหารภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน สื่อมวลชน และทุกภาคส่วน ได้ช่วยกันขยายผล ทั้งการสวมใส่ผ้าไทย การคัดแยกขยะ และการจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อนในครัวเรือน เพื่อสร้างสิ่งทีดีให้เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม เกิดขึ้นกับประเทศไทย และเกิดขึ้นกับโลกใบเดียวของเรานี้ให้เพิ่มมากขึ้น

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การประกาศความร่วมมือในด้านการลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ : มาตรการทดแทนปูนเม็ดในวันนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญในการรวมพลังกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้โลกใบนี้อยู่รอด ด้วยการใช้ซีเมนต์ไฮดรอลิก ซึ่งกระทรวงมหาดไทยโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้จัดทำมาตรฐานกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของวัสดุใช้ในงานโครงสร้างอาคาร (มยผ.) ตั้งแต่ มยพ. 1101-1106 โดยกำหนดให้การก่อสร้างต่างๆ ต้องใช้ซีเมนต์ไฮดรอลิกหรือซีเมนต์ที่ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการก่อสร้าง

“กระทรวงมหาดไทยจะได้เชิญนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กำหนดให้การใช้ซีเมนต์ไฮดรอลิกเป็นแนวทางการใช้ปูนซีเมนต์สำหรับการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นการทั่วไป เพื่อช่วยในการที่จะลดโลกร้อน ทำให้สิ่งที่พวกเราตั้งใจไว้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ววัน และขอเชิญชวนให้พวกเราทุกคนช่วยกันขับเคลื่อน ช่วยกันผลักดัน และกลับไปดำเนินการโดยทันที เพื่อให้โลกของเราอยู่คู่กับมนุษยชาติเพื่อลูกหลานของเราอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุทธิพงษ์ กล่าว.